xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจไทย TBCSD ผนึกพลังการขับเคลื่อนองค์กร สู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดงาน TBCSD Climate Action “ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)” # Season 5: กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยเป็นการจัดงานผ่านระบบออนไลน์ Zoom และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ เพจขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Country Issue) และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายตามเป้าหมายของประเทศไทยและมุ่งสู่ความยั่งยืน

โดยงาน TBCSD Climate Action “ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)” มีกำหนดจัดงานทั้งหมดจำนวน 5 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2565 – มกราคม 2566 ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดงานในครั้งที่ 5 ประเภทกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม

โดยได้มีการจัดงานครั้งที่ 1 ประเภทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ครั้งที่ 2 ประเภทกลุ่มธุรกิจการเงิน และ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ครั้งที่ 3 ประเภทกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (พลังงานเชื้อเพลิง) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 และ ครั้งที่ 4 ประเภทกลุ่มพลังงานไฟฟ้า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตามลำดับ

งานครั้งนี้มี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ
ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG และตอบสนองตามเป้าหมายการมุ่งไปสู่ Carbon Neutrality
และ Net Zero GHG Emission ของประเทศ
นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต"

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
เป็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั้งในระดับประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลก
ซึ่งองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)
เป็นเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศได้มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนแก้ไขประเด็น Climate Change อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)" 

"พร้อมทั้ง ได้ร่วมหารือกับกลุ่มองค์กรสมาชิก TBCSD ซึ่งเป็นองค์กรภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวนกว่า 43 องค์กร อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อกำหนด Climate Action ให้ชัดเจน โดยการกำหนดเป้าหมายมาตรการและกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) พร้อมทั้ง การสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันขยายผลและผลักดันระดับนโยบายของประเทศ อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต”

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง "สรุปภาพรวมบทบาทของ Thailand Climate Action ในเวทีโลก COP27" กล่าวว่า “สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศจากถ้อยแถลงเจตนารมณ์ใน COP 26 สู่ COP 27 โดยปรับปรุงเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC 2030 และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ส่งไปยัง UNFCCC รวมทั้ง แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ การประชุม COP 27 มุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญทั้งมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงาน) มิติด้านการปรับตัว
ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (การสูญเสียและความเสียหาย (Loss & Damage)) และมิติการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังการประชุม COP 27 ได้บูรณาการเป้าหมาย Net-Zero สู่แผนการดำเนินงานรายสาขาในทุกระดับเร่งผลักดันการจัดทำพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... รวมถึง แนวทางการรุกรับปรับตัวต่อประเด็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้ง แนวคิด Green Recovery BCG และ ESG เพื่อจัดการความเสี่ยงและวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ปวีณา พาณิชยพิเชฐ ผู้จัดการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
(องค์การมหาชน) ซึ่ง TGO เป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ TBCSD มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง "การมุ่งสู่ Carbon Neutrality ของภาคธุรกิจด้วยคาร์บอนเครดิต" พร้อมนำเสนอข้อมูลโครงการ Premium T-VER ยกระดับเทียบเท่าสากล กล่าวว่า กลไกลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยมาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้คาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงในประเทศไทย และช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจาก Premium T-VER จะมีวิธีการคำนวณและติดตามปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นยังกำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการต้องจัดกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับมาใช้ในการปรับปรุงแผนการดำเนินโครงการทำการพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินตามปกติเพื่อยืนยันว่ารายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ ประเมินและติดตามการดำเนินงานเพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบของโครงการและการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีกลไกการชดเชยสำหรับโครงการภาคป่าไม้ซึ่งอาจมีการสูญเสียคาร์บอนที่กักเก็บในเนื้อไม้จากความเสี่ยงจากปัจจัยตามธรรมชาติ และปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดการพื้นที่ การลักลอบตัดไม้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคาร์บอนเครดิตจาก Premium T-VER มีความถาวร

ในช่วงการเสวนา เรื่อง หัวข้อ “การยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต” ได้รับเกียรติจากผู้บริหารขององค์กรสมาชิก TBCSD ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้

คุณวุฒิ วิพันธ์พงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โลกคือบ้านหลังใหญ่ AssetWise พร้อมเป็นส่วนหนึ่ง ในการดูแลโลกใบนี้ร่วมกับทุกภาคส่วน ผ่านนโยบาย Grow Green และ Punn มุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ที่มีความสุขอย่างยั่งยืนร่วมกัน AssetWise “We Build Happiness for All”

"บริษัทดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน และมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เราจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 6 กลุ่มด้วยกัน บริษัทและพนักงาน ปลูกจิตสำนึก สร้างการรับรู้ให้พนักงานเกิดความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม
บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการทำงาน พันธมิตรทางธุรกิจ สนับสนุนให้พันธมิตรมีแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม
โดยเปิดโอกาสให้พันธมิตรสร้างสรรค์การออกแบบ (Green Design) เช่น การลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ (Green Product) ที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมหรือมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ลูกค้า ส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบโครงการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโครงการ รักษาวิถีชีวิตของชุมชนและเอื้อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการ ตลอดจนการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด สังคม
สนับสนุนสังคมวงกว้างให้ดูแล รักษา และส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ โลก AssetWise
ได้วางเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าเดียวกับประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในการรับผิดชอบระดับโลก ยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส”

ดร.ศิรินทิพย์ จันทร์ถึง Head Center of Environmental Excellence (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “SSI มุ่งมั่นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กไทยสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยดำเนินกิจการควบคู่กับการมีส่วนร่วมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 บริษัทได้เข้าร่วมเป็น “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก” (Climate Action Leading Organization : CALO) ประกาศเจตจำนงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050

อีกทั้งยังมุ่งมั่นในการปฏิบัติและเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ การเข้าร่วมโครงการ T-VER Recuperator ประสิทธิภาพสูง สำหรับเตา Reheating Furnace และการเข้าร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ Thailand Carbon Neutral Network
(TCNN), Life Cycle Assessment (LCA) ของผลิตภัณฑ์ ร่วมกับ World Steel Association, RE100 Thailand Club, Hydrogen Thailand Club, Thailand CCUS Consortium เพื่อยกระดับความเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น