ประชากรนกบนโลกลดลงต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ทุกวันที่ 5 มกราคม จึงถูกตั้งให้เป็น “วันนกแห่งชาติ” (National Bird Day) เพราะคาดหวังให้มนุษย์ร่วมโลกตระหนักคุณประโยชน์และอนุรักษ์นกมากขึ้น
พอเอ่ยคำว่า “นก” หลายคนพูดกันบ่อยๆ เพื่อต้องการจะสื่อคำสะแลงในหมู่วัยรุ่น ที่แปลว่า “วืด” หรือ “ชวด” ซึ่งไม่ใช่นกที่บินอยู่บนอากาศที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน
“วันนกแห่งชาติ” จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1894 โดย ชาร์ล อมอนโซ แบตคุก ผู้อำนวยการโรงเรียนในเมืองโอลด์ ซิตี รัฐเพนซิเวเนีย
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรนกไม่ว่าด้วยปัจจัยทางโรคภัย ปัญหามลภาวะ และถูกล่าโดยมนุษย์นั้นทำให้มีปริมาณลดลง กระทั่งสูญพันธุ์ในหลายชนิด
รู้หรือไม่! ว่าแต่ละปีมีนกจากธรรมชาตินับล้านตัวที่ถูกจับหรือนำมาสร้างกำไรทางการค้า หรือความสนุกสนานของมนุษย์
การเฉลิมฉลองวันนกแห่งชาติ จึงไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรไปมากกว่า ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชากรนกในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายแหล่งอาศัย การกระทำต่างๆ อันเป็นภัยคุกคามต่อนกในธรรมชาติ รวมถึงการค้าขายซื้อนกที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นหากส่งต่อความรู้และค่านิยมที่ถูกต้องต่อๆ กันไป ก็นับเป็นการฉลองวันนกที่ดีที่สุดแล้ว
วันนกแห่งชาติ ขอชวนไปดูตัวอย่าง 7 นกหายากในเมืองไทยที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะมนุษย์ไม่ว่าทางตรงโดยการล่าหรือทางอ้อม เพื่อให้คนไทยที่เคยมองข้ามหันกลับมาใส่ใจต่อการอนุรักษ์นกมากขึ้น
1. นกกะเรียน
เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ เคยพบอาศัยอยู่ในท้องทุ่งในพื้นที่ราบทั่วประเทศ ในอดีตนกกะเรียน มักพบรวมฝูงกันเป็นจำนวนมากนับหมื่นตัวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่พบที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ แต่นกกะเรียนได้ลดจำนวนลงตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อบ้านเมืองขยายตัว และพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกกะเรียน ได้ถูกมนุษย์ยึดครองเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ทำให้นกขนาดใหญ่ชนิดนี้หมดโอกาสที่จะมีชีวิตในเมืองไทยอีกต่อไป เนื่องจากขาดแคลนแหล่งอาศัย
สายพันธุ์ นกกะเรียนไทยในอดีตที่เคยมีผู้พบเห็นจำนวนนับพัน นับหมื่นตัว จึงกลายเป็นนกหายาก ที่พอจะมีให้เห็นบ้างก็เป็นนกที่อพยพย้ายถิ่นมา เราจะได้พบเห็นนกกะเรียนอีกครั้งเฉพาะเมื่อถึงฤดู “ นกกะเรียนคืนถิ่น” เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยได้ขอนกกะเรียนพันธุ์ไทยมาจากต่างประเทศ เพื่อกลับมาเพาะขยายพันธุ์ในเมืองไทยอีกครั้ง และนำไปปล่อยให้อาศัยอยู่ในธรรมชาติ
สำหรับนกกระเรียนไทยเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 19 ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สถานะภาพปัจจุบันจัดเป็นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 ที่บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา
2.นกอ้ายงั่ว
นกอ้ายงั่ว หรือนกคองู เป็นนกที่พบได้ตลอดทั้งปีตามหนองบึงทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้ใหญ่ถูกตัด ถูกทำลาย บึงน้ำชานกรุงถูกถม กลายเป็นบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นกอ้ายงั่วก็พลอยหาสาบสูญไปด้วย
นกอ้ายงั่ว จัดเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งปริมาณของอาหาร และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
จัดเป็นนกประถิ่นในประเทศไทย แต่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม ในประเทศจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันพบเพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสระแก้วในภาคตะวันออก
3. นกกาบบัว
อยู่ในวงศ์นกกระสาเคย พบได้ง่ายๆ ตามหนองบึงหนอง ท้องทุ่ง ทั่วบริเวณภาคกลางไปจนถึงบริเวณภาคใต้ แต่ปัจจุบันนกกาบบัวพบเห็นได้ไม่บ่อย และส่วนใหญ่จะเป็นนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามา แต่สถานะของนกชนิดนี้ยังคงเป็นนกประจำถิ่น เพราะยังมีพื้นที่ให้พวกมันสร้างรังวางไข่เป็นแหล่งสุดท้าย ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง
ตามปกติเรามักไม่ค่อยพบเห็นนกกาบบัวครั้งละหลายๆตัว นอกจากใน ฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งนกจะพากันมาทำรังวางไข่ บนต้นไม้ต้นเดียวกัน หรือ ต้นไม้ ใกล้ๆกัน นกกาบบัวผสมพันธุ์ ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน เป็นนกผัวเดียวเมียเดียว ตลอดฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งอาจตลอดชีวิตก็ได้ มักทำรังรวมกันเป็นกลุ่ม บนยอดไม้สูงใหญ่ที่ขึ้นใกล้แหล่งน้ำหรืออยู่ในแหล่งน้ำ เช่น ต้นยางนา ต้นเทียะ ต้นกระทุ่มน้ำ และต้นเสม็ด เป็นต้น ทว่าต้นไม้สูงใหญ่แข็งแรงพอที่จะให้นกขนาดใหญ่ชนิดนี้ทำรังวางไข่ก็ถูกตัดโค่นลงมากในช่วงที่ผ่านมา
การพบเห็นนกกาบบัวในประเทศไทย ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก หากป้องกันการล่า และเก็บไข่นกได้ สถานะภาพของนกกาบบัวในประเทศไทย น่าจะเพิ่มมากขึ้นจนเป็นนกประจำถิ่นที่สามารถพบเห็นได้ตลอดปี เหมือนเช่นในอดีต
4. นกตะกรุม
นกตะกรุม ดูจะเป็นนกที่ชาวบ้านทั่วไปคุ้นเคยเป็นอย่างดี ถึงกับนำชื่อของมันมาล้อเลียนคนที่มีศีรษะล้าน และนกตะกราม ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับนกตะกรุม ที่มีพฤติกรรมในการกินอาหารมูมมาม ก็ถูกนำไปใช้ตำหนิติเตียนคนที่กินอาหารมูมมามว่า ตะกละตะกราม
นกตะกรุมมีรูปร่างคล้ายคลึงกับนกตะกราม แต่มีขนาดเล็กกว่า และไม่มีถุงใต้คอ เป็นนกที่หาได้ยากมากในประเทศไทย เดิมเคยมีรายงานพบที่ จังหวัดศรีสะเกษ, ราชบุรี, ชุมพร, ตรัง, ประจวบคีรีขันธ์ และนราธิวาส และมีรายงานการทำรังแพร่ขยายพันธุ์ที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ที่จังหวัดพัทลุง และป่าพรุ ในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2522 แต่ปัจจุบันนี้ เหลือเพียงฝูงสุดท้ายแล้วที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา อันเป็นเกาะที่เงียบสงบ ห่างไกลจากการถูกรบกวนโดยมนุษย์ และมีรายงานพบ 2 ตัวที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2556
ปัจจุบันมีรายงานการพบนกตะกรุม - ตะกรามน้อยมากและนานๆครั้ง และมักจะเป็นนกที่อพยพเข้ามาจากกัมพูชา เพราะกัมพูชายังคงมีธรรมชาติสมบูรณ์มากกว่าบ้านเรา นกตะกรุมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
5. นกแร้ง
หรือเรียกอีกอย่างว่า “แร้ง” ปัจจุบัน แร้งแทบทุกชนิดตกอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์และหายาก เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกรุกราน และสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป เพราะศพและซากสัตว์ถูกฝังหรือเผาอย่างถูกวิธี แร้งจึงขาดอาหาร ยิ่งเมื่อต้นไม้ใหญ่หมดไป ฝูงแร้งหลายชนิดจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ที่เหลืออยู่ ก็จำเป็นต้องหลบหนีหายไปหมดเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ไปพึ่งป่าบางแห่งที่ยังพอมีสัตว์ป่าชุกชุมเพื่อคอยกินซากสัตว์ป่า และนั่นทำให้แร้งจำนวนไม่น้อยต้องตายลงเนื่องจากไปกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ
สำหรับในประเทศไทยพบแร้งทั้งหมด 5 ชนิด โดยแบ่งเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด คือ แร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) และ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis) แร้งประจำถิ่น 3 ชนิด คือ พญาแร้ง (Sarcogyps calvus), แร้งสีน้ำตาล (Gyps itenuirostris) และแร้งเทาหลังขาว (G. bengalensis) ซึ่งทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด
แร้งประจำถิ่นไทยในปัจจุบันนี้ มีโครงการเพาะพันธุ์พญาแร้งเพื่อฟื้นฟูประชากรในถิ่นอาศัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[
6. นกเงือก
เป็นนกขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีจำนวน 13 ชนิดด้วยกัน นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จนได้สมยานามว่า "นกปลูกป่า" เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้างและยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ
นับเป็นนกที่มีพฤติกรรมการสร้างรังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแปลกกว่านกชนิดอื่น โดยนกเงือกตัวเมียจะเข้าไปขังตัวอยู่ภายในโพรงและปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้นำอาหารมาป้อน จนเมื่อฟักไข่และลูกนกเติบใหญ่นกเงือกจึงจะเจาะปากโพรงออกมา ด้วยลำตัวขนาดใหญ่ของนกเงือก ทำให้มันต้องการต้นไม้ที่มีลำต้นสูงใหญ่เพื่อการทำรัง ป่าดงดิบที่มีต้นไม้ใหญ่จึงเป็นสถานที่แห่งเดียวที่พวกมันจะดำรงชีวิตอยู่ได้
นกเงือกทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีการศึกษา วิจัย และอนุรักษ์นกเงือกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
7. นกปรอดแม่ทะ
เป็นนกประจำถิ่นอีกชนิด แต่ ณ ปัจจุบันหาได้ยากและพบในปริมาณน้อยมาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกดักจับไปเลี้ยง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
จัดเป็นนกปรอดขนาดใหญ่กว่านกปรอดชนิดอื่นๆ คือ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 29 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ บนกระหม่อมมีสีเหลือง และมีเส้นสีดำลากผ่านตาจากโคนปาก มีเส้นสีลากลงมาทางด้านข้างของลำคอ บนหัว บนหลัง และหน้าอก มีลายเป็นทางเล็กๆ สีเทา
นกปรอดแม่ทะเป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่โชคร้าย เพราะเสียงอันไพเราะของมัน เราอาจจะเห็นการเลี้ยงนกชนิดนี้ตามบ้าน หรือมีขายตามตลาดค้านกทั่วไป แต่ในธรรมชาตินั้นคาดว่านกชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะไม่มีรายงานการพบเห็นนกชนิดนี้เลย ทั้งๆ ที่นกปรอดแม่ทะเป็นนกขนาดใหญ่ เคยพบเห็นได้ทั่วไปตามป่าที่ราบต่ำของภาคใต้
ปัจจุบันหาได้ยากและพบในปริมาณน้อยมาก จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกดักจับไปเลี้ยง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
อ้างอิง https://sites.google.com/site/jirawong04062541/home/7-nk-ha-yak-ni-meuxng-thiy