ใกล้วันหยุดยาวรับเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ พออยู่พร้อมหน้า หลายครอบครัวพากันไปทำบุญ-ทำทาน และก็มักจะมีพ่อค้าแม่ค้าเชิญชวนให้ทำทาน “ปล่อยนก ปล่อยปลา” ตามความเชื่อ ได้บุญ สุขภาพดี แคล้วคลาดและอายุยืน เป็นต้น
ทว่าบรรดาสายบุญรู้มั้ยว่า การเสริมศิริมงคล “ปล่อยปลาดุก” ของท่านไปทำร้าย ทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำ เปรียบดั่ง “ปล่อยฝูงซอมบี้บุกหมู่บ้าน”
ความเชื่อในการปล่อยปลาดุกปลาดุก หมายถึง ศัตรูคู่แข่งจะแพ้พ่าย จะแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ยิ่งเป็น
ปลาดุกเผือก ก็จะหมายถึง เพิ่มสิริมงคลให้แก่ชีวิตอีกด้วย (อ่านความเชื่อ เสริมดวงด้วยการทำบุญปล่อยปลาและสัตว์น้ำตามวันเกิด https://www.innnews.co.th/horoscope/news_ )
นักวิชาการเตือนสายบุญ ถ้าเลือกได้ขอให้งดปล่อย "ปลาดุก" เพราะมันจะกระทบระบบนิเวศของแหล่งน้ำซึ่งเปรียบเหมือนว่า “เราปล่อยฝูงซอมบี้บุกหมู่บ้าน”
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Nonn
Panitvong (เมื่อ 2 ปีมาแล้ว เข้าไปอ่านรายละเอียดได้) ถึงผลกระทบของ "ปลาดุก" ต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบ
ใจความสำคัญ อาจารย์บอกว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ปลาหายาก หรือ ปลาท้องถิ่น
เปรียบเหมือนเอาเสือ เอาสิงโต มาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้ จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก (เข้าไปอ่านโพสท์เต็มได้ที่ >> https://cutt.ly/1dN2r8k)
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ก็เคยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ปลาดุกที่นิยมปล่อยกันส่วนใหญ่เป็น "ปลาดุกบิ๊กอุย" ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่าง "ปลาดุกอุย" ของไทยกับ "ปลาดุกรัสเซีย" เพื่อให้ได้ปลาดุกที่ตัวใหญ่ มีการเลี้ยงกันมา 20 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีปลาดุกอื่นมาผสมอีก จนตอนนี้ปลาดุกพันธุ์ผสมอีกหลากหลาย
ประกอบกับปลาดุก เดิมทีเป็นปลาที่มีลักษณะกินไม่เลือกตั้งแต่เริ่ม เมื่อไปผสมพันธุ์ใหม่ จึงยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น กินจุขึ้น โตไว จึงนิยมเลี้ยงไว้เพื่อขาย และเมื่อมีคนนำปลาดุกเหล่านี้ ไปปล่อยลงในแม่น้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ
ซึ่งระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้น ปลาตัวใหญ่จะกิน ปลาตัวเล็ก เมื่อไม่มีปลาในแม่น้ำที่ตัวเล็กกว่าปลาดุกพันธุ์ผสมนี้ จึงทำให้ปลาดุกเป็นฝ่ายกินปลาท้องถิ่นต่าง ๆ แทนเพื่อความอยู่รอด
ยิ่งเวลาปล่อยปลาทำบุญกันครั้งละหลักพันตัว หมื่นตัว จึงเปรียบเหมือนคนเราอยู่ในหมู่บ้าน อยู่ดี ๆ ก็มีตัวประหลาด มีซอมบี้บุกเข้ามาเป็นพันตัว หมื่นตัว ซึ่งเราไม่สามารถสู้ได้เลย
พร้อมแนะนำสำหรับคนที่อยากทำบุญปล่อยสัตว์น้ำนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ควรลดการทิ้งถุงพลาสติกลงในน้ำ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยสัตว์น้ำให้รอดตาย โดยไม่ต้องปล่อยสัตว์น้ำ แต่เลือกที่จะไม่ฆ่าเขาแทน
“หากต้องการปล่อยสัตว์น้ำจริง ๆ ตามความเชื่อของท่านก็ต้องคำถึง 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปลาเล็ก 2. ปลากินพืช 3. ปล่อยครั้งละน้อย ๆ และ 4. เลือกปล่อยปลาท้องถิ่น หากทำได้ตามนี้ก็จะไม่มีปัญหาตามมาครับ”