ต้นปี 2565 เวียดนามเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มขับเคลื่อนนโยบายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการบริโภค และการกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค หลังจากนั้น ประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นายไซมอน บอลด์วิน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก องค์กร เซคเคินด์มิวส์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการนำหลักการ EPR มาใช้เพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ ในประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิต ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำต้องเป็นผู้รับผิดชอบการรีไซเคิล หลักการนี้ผลักดันให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนากระบวนการเพื่อให้ผู้บริโภคส่งคืนขยะรีไซเคิลหลังการบริโภค บางประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา รวมถึงบางประเทศในเอเชียและแอฟริกา มีการออกกฎหมายที่กำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิตสำหรับสินค้าเฉพาะประเภทมานานหลายปีแล้ว
โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากสามารถลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 16% ในเวลา 13 ปี (ปี 2539 ถึง 2552) ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้สามารถลดการสร้างขยะจาก 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็น 1.04 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายใน 10 ปี (ปี 2537 ถึง 2547) แม้ EPR จะเป็นเพียงหนึ่งในกลไกด้านนโยบายที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง หากภาครัฐนำมาใช้เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตคำนึงถึงความยั่งยืนและความสะดวกในการนำไปรีไซเคิล ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการผลิตสินค้า
ขณะนี้ ยุโรปคือผู้บุกเบิกพัฒนาการด้าน EPR โดยมีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องภายในปี 2567 ขณะที่พัฒนาการในเอเชียยังมีความก้าวหน้าที่ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากบางประเทศเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามความสมัครใจ ขณะที่บางประเทศ เช่น ไทย ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นศึกษาหลักการเพื่อการออกกฎหมาย
การผลิตตามหลัก EPR สนับสนุนการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน ในขณะที่การผลิตทั่วไปเป็นการใช้แล้วทิ้ง ดังนั้น EPR จึงมีส่วนในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลและช่วยส่งเสริมการลงทุน จากการที่ EPR ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากทุกภาคส่วน ทำให้เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค (The Incubation Network) และ Resource Recycling Systems (RRS) Asia ร่วมกันพัฒนา Circularity Concepts ซึ่งเป็นวีดีโอประกอบบทเรียนออนไลน์ โดยตอนแรกเป็นการให้ความรู้ในหัวข้อ EPR และการพัฒนานโยบายในเอเชีย
หลายประเทศในเอเชียเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินมาตรการด้าน EPR อาทิ โครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บขยะที่ไม่พร้อมรองรับ EPR ผู้บริโภคขาดจิตสำนึกและความเข้าใจในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึง ทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่าของการจัดการขยะและการรีไซเคิลขาดการบูรณาการและความชัดเจน
ดังนั้น การพัฒนามาตรการด้าน EPR จึงต้องสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละประเทศ เพื่อให้ก้าวข้ามความท้าทายดังกล่าว
๐ จำเป็นต้องใช้นโยบายที่มีความยืดหยุ่น
การดำเนินงานด้าน EPR ด้วยการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงกว่าการปฏิบัติด้วยความสมัครใจ ข้อดีของการบังคับใช้กฎหมายคือ ใช้ได้กับทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่า สามารถกำหนดความรับผิดชอบ เป้าหมาย และมาตรฐานการจัดการขยะที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม รวมถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิตเพื่อนำมาสนับสนุนการบริหารจัดการระบบและการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้าน EPR ของประเทศหนึ่ง อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับประเทศอื่น ๆ เราจึงควรนำหลักการ EPR มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ เริ่มจากการตั้งเป้าหมายการรีไซเคิล ไปจนถึงการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องมีกระบวนการเพื่อติดตามการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย
ขณะเดียวกัน นโยบายควรมีความสมดุลระหว่างการวางกรอบการทำงานที่สามารถจัดการกับความซับซ้อนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ และการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ โดยมีการกำหนดกฎระเบียบที่เข้าใจง่ายและสามารถบังคับใช้ได้กับทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้นโยบายบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของความซับซ้อนดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากมีหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่รับผิดชอบการจัดเก็บและกำจัดขยะมากกว่า 7,000 แห่ง ขณะเดียวกัน ในโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะของประเทศยังประกอบด้วยแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้แก่ คนเก็บขยะจำนวน 750,000 ถึง 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่ากว่า 30,000 ร้าน ความสำเร็จในการกำหนดนโยบายด้าน EPR คือการคำนึงถึงความต้องการและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า โดยไม่ผลักภาระด้านค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลไปยังธุรกิจค้าปลีกหรือเจ้าของแบรนด์เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ การกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ EPR จะต้องครอบคลุมและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยหลีกเลี่ยงความไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตที่มีขีดความสามารถในการรับผิดชอบได้น้อยกว่า หรือผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบด้านราคาจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตรายเล็กอาจได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเรียกคืนและการกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์
๐ ผสาน EPR เข้ากับกลยุทธ์หลัก
หลักการด้าน EPR ช่วยสร้างคุณค่าจากพลาสติก และส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การนำหลัก EPR มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง คือ การนำไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืน
แม้การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นการนำ EPR มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคควรร่วมมือกับบริษัทเอกชนเพื่อดำเนินโครงการนำร่องแบบสมัครใจ หรือใช้กฎหมายเฉพาะอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น แบตเตอรี่ เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนการบังคับใช้กฎหมายในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องในจังหวัดชลบุรีร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกว่า 50 องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการรีไซเคิล หน่วยงานภาครัฐ และนักวิจัย ความร่วมมือนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึก และการสร้างการยอมรับในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในการบังคับใช้กฎระเบียบด้าน EPR ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม EPR เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการจัดการขยะและการรีไซเคิล การที่ EPR จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์แบบองค์รวมที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย
นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการรับรู้เรื่องการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบหลังการบริโภคเพื่อนำไปรีไซเคิล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างตลาดใหม่จาก EPR
ความร่วมมือของผู้ผลิต เจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภคสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อรับมือกับวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง และเก็บเกี่ยวคุณค่าจากขยะให้เป็นผลสำเร็จ
ทั้งนี้ The Incubation Network เป็นโครงการที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม โดยให้การสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย
The Incubation Network คือส่วนหนึ่งของชุมชนที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ตอัปและผู้ประกอบการ นักลงทุน พันธมิตร และโครงการต่าง ๆ The Incubation Network ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุน และต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการลงทุนหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น และเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการของเสียและการรีไซเคิล
The Incubation Network ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 จากความร่วมมือระหว่าง The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และ SecondMuse เป็นบริษัทที่เน้นด้านนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง