xs
xsm
sm
md
lg

The Donkey Sanctuary เปิดรายงานฉบับใหม่ ชี้ภัยคุกคามทางชีวภาพ จากการค้าหนังลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



๐ งานวิจัยเผยความเป็นไปได้ของการเกิดโรคระบาดอื่นๆ ตามมา อันเนื่องมาจากการค้าหนังลาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดการควบคุมดูแล และผิดกฎหมาย เพื่อนำไปใช้ในการแพทย์แผนจีน เช่นเดียวกับกรณีการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ที่ระบาดในไทยเมื่อปี 2563

๐ รายงานฉบับใหม่จาก The Donkey Sanctuary ระบุถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อม้าและมนุษย์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการค้าหนังลา

๐ การทดสอบตัวอย่างผิวหนังลาจากโรงฆ่าสัตว์ในประเทศเคนยาจำนวน 108 ตัวอย่างพบว่า 88 ตัวอย่างมีเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ปะปนอยู่ และพบผลบวกของสายพันธ์ที่ดื้อต่อยาเมธิซิลลิน (MRSA) จำนวน 44 ตัวอย่างและอีก 3 ตัวอย่าง ที่มีผลบวกของ PVL-toxin ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายที่พบในมนุษย์

๐ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic diesease) เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โดยเกิดจากวิธีการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะบนลานดินหรือแม้แต่ในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม ซึ่งวิธีการฆ่าสัตว์ดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ

๐ การค้าหนังลาอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สร้างความทุกข์ทรมานต่อลาและส่งผลกระทบในระดับที่รุนแรงต่อชุมชนที่ต้องอาศัยแรงงานจากลาด้วย


ในแต่ละปี ทั่วโลกมีลาจำนวนกว่า 4.8 ล้านตัวถูกขายและฆ่าเพื่อนำหนังมาใช้งาน ความต้องการหนังลาเกิดขึ้นจากการนำไปใช้ในการผลิต ejiao (เออเจียว) ซึ่งเป็นเจลาตินที่สกัดจากผิวหนังของลา และถือเป็นยาแผนโบราณของจีนโดยบางคนเชื่อว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ถึงสรรพคุณที่แท้จริงของยาตัวดังกล่าว โดยรายงานฉบับใหม่จาก The Donkey Sanctuary ได้เผยให้เห็นว่าการค้าหนังลาก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนต่อความปลอดภัยทางชีวภาพระหว่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยที่เป็นเส้นทางผ่านในการค้าหนังลา

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ตลาดหลักสำหรับการค้าหนังลา แต่การนำเข้าหนังลาก็เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในประเทศ โดยผู้ค้าหนังลาส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงและหลบหลีกมาตรการป้องกันในการควบคุมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศผู้รับโดยขนส่งหนังลามายังท่าเรือในประเทศไทย (หรือที่อื่น ๆ เช่น ฮ่องกง) ก่อนที่จะส่งไปยังประเทศจีน

แผนที่แสดงรายละเอียดผู้นำเข้าและผู้ส่งออกหนังลาสิบอันดับแรก ข้อมูลจากฐานข้อมูลการขนส่ง
ข้อมูลล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีม้าทั้งหมด 6,069 ตัว ขณะที่มีลาเพียงแค่ 30 ตัว อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ในการเลี้ยงลานั้นไม่มีความชัดเจนและมีการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะไม่มีการกำกับดูแลการค้าสัตว์จำพวกนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งลามีส่วนสำคัญในการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า หรือ African Horse Sickness (AHS) ที่สามารถเแพร่เชื้อได้ผ่านแมลงที่ดูดเลือดของม้าและลา โดยไม่แสดงอาการที่รุนแรง

การแพร่ระบาดของโรค AHS ในประเทศไทยเมื่อปี 2563[3] มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการนำเข้าสัตว์ที่มีชีวิต (ได้แก่ ม้า ลา และม้าลาย) ซึ่งพบการติดเชื้อใน 6 จังหวัด ก่อนที่จะมีมาตรการสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตระกูลม้าออกนอกพื้นที่ ซึ่งสามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ โดยพบการติดเชื้อในม้าจำนวน 610 ตัวใน 17 จังหวัด และมีม้าที่เสียชีวิตจำนวนทั้งสิ้น 568 ตัว รวมไปถึงม้ามูลค่าสูงที่ใช้ในการแข่งกีฬา และสัตว์ตระกูลม้าสำหรับใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนหลายแสนคน ทั้งนี้ แม้จะไม่พบการติดเชื้อรายใหม่นับตั้งแต่มีโครงการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ แต่การค้าลาและหนังลาที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องนี้ได้


รายงานความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ในระดับสากล หรือ Biosecurity Risks and Implications for Human & Animal Health on a Global Scale ที่จัดทำขึ้นโดย The Donkey Sanctuary และสถาบันวิจัยปศุสัตว์ระหว่างประเทศในเคนยา (ILRI) ได้เผยถึงผลการทดสอบตัวอย่างผิวหนังลาหลายตัวซึ่งปนเปื้อนเชื้อ Staphylococcus aureus (S.aureus) และโรค AHS โดยในกรณีของผิวหนังที่ปนเปื้อนเชื้อ S.aureus พบว่ามีเชื้อที่ดื้อยา MRSA ในการทดสอบจำนวน 44 ตัวอย่างจาก 108 ตัวอย่าง และอีก 3 ตัวอย่างให้ผลบวกของสาร PVL-toxin ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายที่พบในมนุษย์

โดยทั่วไปแล้ว ลามีความไวต่อโรคติดเชื้อเช่นเดียวกับม้า ซึ่งหลายโรคสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ผ่านการกิน การหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง การสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับสัตว์ที่ป่วยทำให้ผู้คนมีความเสี่ยง เช่นเดียวกับการกิน การหายใจ หรือการสัมผัสผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ซึ่งติดเชื้อ[4] โดยอาการของโรคต่างๆ มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์แตกต่างกันไป โดยมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ กลากเกลื้อน ไปจนถึงโรคที่อาจอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น โรคพิษสุนัขบ้าและโรคแกลนเดอร์ (Glanders) ซึ่งเป็นโรคติดต่อในม้าที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยโรคเหล่านี้นับเป็นอันตรายต่อผู้ที่ประกอบอาชีพที่คลุกคลีกับสัตว์เหล่านี้ เช่น ผู้ที่ทำงานในฟาร์ม พนักงานโรงฆ่าสัตว์ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและจัดการลา หรือการแแปรรูป การบรรจุ และการขนส่งหนังลา


ทั้งนี้ มีลาจำนวนมากที่ถูกสุ่มฆ่าอย่างทารุณและไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งรวมไปถึงลาที่ป่วย โดยมีการจัดส่งและขนส่งหนังลาที่แตกต่างกัน รวมถึงการค้าทั่วโลกล้วนที่มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงในระดับสูงจากหนังลาที่ใช้ในการผลิต ejiao ซึ่งปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ นอกเหนือจากความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงม้าหรือลาที่สัมผัสกับหนังลาดังกล่าวแล้ว ความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศปลายทางก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ทั้งนี้ เราอาจไม่พบโรคเฉพาะถิ่นจากประเทศต้นทาง ในระหว่างการขนส่งหรือในประเทศปลายทางก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประชากรม้าและลาในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับการระบาดของโรค AHS ในประเทศไทยเมื่อปี 2563 ที่ทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่เคยมีโรคนี้เกิดขึ้นในประเทศมาก่อน

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การค้าหนังลาในปัจจุบันดำเนินไปโดยไม่มีกฎระเบียบภายใต้การดูแลของด้านสัตวแพทย์และมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพที่เพียงพอ การค้าหนังลาส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะของการลักลอบและไม่มีกฎหมายควบคุม จึงไม่สามารถติดตามการขนส่งและแกะรอยผิวหนังที่ปนเปื้อนเชื้อได้

สภาพแวดล้อมในการฆ่าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ถูกสุขลักษณะเป็นปัจจัยหลักที่คุกคามความปลอดภัยทางชีวภาพในการค้าหนังลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สัตว์ฝูงใหญ่จากพื้นที่ต่าง ๆ ถูกนำมารวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากการฆ่าสัตว์บนลานดินอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้หนังลาเกิดการปนเปื้อนจากดินที่มีเชื้อโรคหรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการฆ่าสัตว์หลายชนิดในสถานที่เดียวกัน ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการปนเปื้อนข้าม (Cross contamination) มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนในการค้าหนังลา
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผิวหนังที่ผ่านกรรมวิธีในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตก็มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยตัวอย่างผิวหนังที่ปนเปื้อนทั้งหมดซึ่ง The Donkey Sanctuary ตรวจพบนั้น มีต้นกำเนิดจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องในประเทศเคนยา และในเดือนเดียวกันกับการเก็บตัวอย่าง หนังลาที่รวบรวมจากสถานที่นี้ยังถูกนำไปฝากขายและส่งไปยังปลายทางในประเทศจีน

มาเรียนน์ สตีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Donkey Sanctuary กล่าวว่า "การค้าหนังลาทั่วโลกนั้นมีความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ไร้การควบคุม รวมถึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ซึ่งส่งผลให้ลาต้องได้รับความทุกข์ทรมาน และชุมชนที่พึ่งพาอาศัยลาต้องได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรง ในขณะที่หลายคนอาจเลือกที่จะไม่ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อสัตว์และผู้คน แต่เราอยากขอให้ผู้บริโภค รัฐบาล และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของสัตว์และมนุษย์ ซึ่งเห็นได้จากบทเรียนล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน ที่ทำให้เราทุกคนหันมาฉุกคิดและเฝ้าระวังภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้"

๐ ความเสี่ยงที่สำคัญของโรคและพาหะของการแพร่เชื้อ

โรคต่าง ๆ ที่ตรวจพบในตัวอย่างหนังลาที่ The Donkey Sanctuary ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลนั้น ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ในตระกูลม้าแม้ว่าจะขนส่งมาจากระยะทางไกลก็ตาม แต่เชื้อ S.aureus ก็สามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานานบนผิวหนังที่เก็บรักษาแบบไม่ได้มาตรฐานในการขนส่ง ซึ่งอาจแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ได้ ทั้งในสถานที่ที่ทำการฆ่าสัตว์ ตลอดจนระหว่างการขนส่งและการส่งมอบในประเทศปลายทาง ส่วนโรค AHS สามารถแพร่เชื้อได้โดยมีแมลงเป็นพาหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Cullicoides midge ซึ่งเป็นตัวริ้นจำพวกหนึ่ง) ที่สามารถอยู่รอดได้ภายในตู้คอนเทนเนอร์แม้ในระยะทางที่ไกลและแพร่เชื้อให้กับม้าหรือลาตัวใหม่ในประเทศปลายทาง

เมื่อพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่สูงนี้ The Donkey Sanctuary จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีน ฮ่องกง เวียดนาม และไทย ยุติการนำเข้าหนังลาโดยทันที พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศผู้ส่งออกดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการค้าหนังลาโดยเร็ว

ดร. เฟธ เบอร์เดน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานด้านการดูแลสัตว์ตระกูลม้า ของ The Donkey Sanctuary กล่าวว่า “ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในรายงานถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลยก็ตาม เพราะความเสี่ยงต่อโรคสำหรับสัตว์และมนุษย์นั้นสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากขั้นตอนการค้าหนังลาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การขาดการตรวจสอบที่สามารถระบุถึงที่มาที่ไปได้และความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นพื้นฐานทำให้ผู้คนและสัตว์นั้นตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก แม้ว่าหนังลาที่ใช้ในการทดสอบนั้นจะได้มาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งเดียวกัน ในวันเดียวกันก็ตาม แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่า หากมีการตรวจหาเชื้อหนังลาจากแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลก ก็อาจพบเชื้อโรคอันตรายปะปนอยู่ เช่น โรคแกลนเดอร์ ไข้หวัดใหญ่ในม้า และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่:

https://www.thedonkeysanctuary.org.uk/sites/uk/files/2022-11/report-2-the-global-trade-in-donkey-skins-a-ticking-time-bomb-2022.pdf

ทั้งนี้ The Donkey Sanctuary เป็นองค์กรการกุศลที่ดูแลสวัสดภาพของลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยวิสัยทัศน์คือ การช่วยให้ลาและล่อมีชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะคุณูปการที่สัตว์เหล่านี้มีต่อมนุษยชาตินั้นเปี่ยมไปด้วยคุณค่า โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ทั้งหมด10 แห่งทั่วสหราชอาณาจักรและในยุโรปเพื่อให้การดูแลตลอดชีวิตแก่ลาและล่อมากกว่า7,000 ตัว นอกจากนี้ โรงพยาบาลของเรายังรับรักษาลาป่วยและฝึกฝนสัตวแพทย์ทั่วประเทศและทั่วโลก โครงการการเรียนรู้เกี่ยวกับลาของเราช่วยให้เด็กและผู้ใหญ่ที่เปราะบางสามารถพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตผ่านการเชื่อมโยงกับลา ทั้งในระดับอารมณ์และร่างกาย The Donkey Sanctuary ยังดำเนินโครงการด้านการกุศลต่างๆ ทั่วโลกสำหรับสัตว์ที่ต้องทำงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมไปถึงสัตว์ที่ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์และหนังสัตว์


กำลังโหลดความคิดเห็น