๐ คันฉ่องส่องเพ็ชร์ ยลความวิจิตรของงานช่างเมืองเพชรบุรีผ่านศีรษะ
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติจัดงานนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” นำเสนอผลงานหัตถศิลป์พื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ตามนโยบายของศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมผ่านการแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นการจัดนิทรรศการงานหัตถศิลป์ตามภูมิภาคต่างๆ เป็นครั้งที่ 3 ในจังหวัดภาคกลาง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น และครั้งที่สองในจังหวัดลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดองค์ความรู้ทางด้านงานหัตถศิลป์ในแต่ละท้องถิ่นมาถ่ายทอดและนำเสนอผ่านงานนิทรรศการ
ในการดำเนินการครั้งนี้ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ และทีมนักวิจัย มีการสำรวจและเก็บข้อมูลร่วมกับทีมงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงเป็นที่มาของแนวความคิดการจัดนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” งานนิทรรศการที่จัดขึ้นในครั้งนี้จึงต้องการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และสุนทรียะผ่านงานช่างหัตถศิลป์อันเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาวเพชรบุรี ภายใต้แนวคิดของศีรษะหรือของสูงที่สะท้อนผ่านคันฉ่องอันเป็นหนึ่งในงานช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเพชรบุรี ซึ่งวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้จะสะท้อนเรื่องราวทั้งแง่วิถีชีวิตและความเชื่อของชาวเพชรบุรีที่มีต่อทั้งธรรมชาติและศาสนา อาทิ คันฉ่องฝังลายไม้มูก งานปูนปั้น หัวละครชาตรี หัววัว งานฉลุกระดาษ หนังใหญ่ และเทียนแห่นาค ซึ่งจะเป็นคันฉ่องที่จะสะท้อนฉายภาพและพาทุกท่านไปดื่มด่ำกับความงามของงานช่างหัตถศิลป์ท้องถิ่นที่ไม่เคยได้สัมผัสและพบเห็นจากที่ไหนมาก่อนอย่างแน่นอน
ในงานนิทรรศการครั้งนี้ได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นสามส่วนโดยแต่ละส่วนจะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันไปแต่จะร้อยเรียงเชื่อมโยงกันผ่านวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวเพชรบุรีที่ถ่ายทอดผ่านบริบทของศีรษะและของสูง โดยในห้องจัดแสดงใหญ่นี้จะจัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับงานช่างหัตถศิลป์ของเพชรบุรีที่มีทั้งงานช่างท้องถิ่นและงานช่างที่ผสมผสานกับความเป็นชาววังหรืองานหลวงลงไป
รูปห้องจัดแสดง
สิ่งที่พลาดชมไม่ได้เลยคงจะหนีไม่พ้นงานคันฉ่องฝังลายไม้มูกที่เป็นชื่อของงานนิทรรศการครั้งนี้ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคการใช้ไม้เนื้ออ่อนฝังลงในเนื้อแข็ง เป็นเทคนิคลวดลายเอกลักษณ์ของชาวเพชรบุรี
รูปคันฉ่อง
นอกจากคันฉ่องในห้องนี้ยังมีทั้งเทียนแห่นาคซึ่งเป็นหนึ่งในงานช่างหัตถศิลป์เฉพาะท้องถิ่นของชาวเพชรบุรีที่หาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้วต้องมาชมที่เพชรบุรีเท่านั้น
รูปหัวละครชาตรี
หัวละครชาตรี เป็นอุปกรณ์สำหรับการประกอบการแสดงละครชาตรีเมืองเพชร ซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวเพชรบุรี ซึ่งละครชาตรีของเมืองเพชรบุรีนั้นมีโอกาสได้ถวายการแสดงต่อหน้าพระพักตร์ปล่อยครั้งเมื่อครั้งพระมหากษัตริย์เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองเพชรบุรี
รูปหนังใหญ่
“หนังใหญ่” หนึ่งในมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของเพชรบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูงที่รวบรวมวิทยาการทางศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกันหนึ่งในนั้นก็คืองานหัตถศิลป์ของการตอกหนังใหญ่
รูป ปูนปั้น งานช่างแห่งเมืองเพ็ชร์
รายการวัตถุจัดแสดงที่จะพลาดชมไม่ได้เลยในห้องจัดแสดงนี้ คือ หัวปูนปั้นเทวดาและครุฑ ซึ่งเป็นงานปูนปั้นตั้งแต่ครั้นสมัยรัชกาลที่ 3 และหน้าบันปูนปั้นจำลองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยครูช่างชั้นครูของเพชรบุรี
รูป หัววัวลาน จากวิถีเกษตรกรรม สู่งานช่างหัตถศิลป์แห่งความผูกพัน
ห้องจัดแสดงนี้ถือเป็นห้องที่ทางผู้จัดนิทรรศการภูมิใจนำเสนอเรื่องราวอีกบทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเพชรบุรีที่ทุกท่านอาจจะไม่เคยได้รู้ว่าก่อนคือ เรื่องของการเลี้ยงวัวซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมืองเพชรเลยก็ว่าได้ ทั้งใช้ในการเกษตรทำไร่ไถ่นา หรือใช้เป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของ ความผูกพันของชาวเพชรบุรีและวัวเป็นความผูกพันที่มีสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น วัวเปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวพวกเขา เมื่อวัวตายลงเจ้าของวัวก็จะเก็บกะโหลกของวัวเป็นที่ระลึกถึงก่อนที่จะมีงานนำงานศิลปะเข้าไปผสมผสานจนเป็นหนึ่งในงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวของหัววัวแต่ละหัวที่แตกต่างกันไปตามวัวแต่ละตัวและการปั้นหัวของช่างปั้น
โดยงานนิทรรศการครั้งนี้ได้นำร่องผ่านการสร้างสรรค์งานปั้นหัววัวลานกับงานสมัยใหม่โดยศิลปินหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชยานนท์, ชลิต นาคพะวัน, สุนทร จันทรนิเวศน์ และปัญจพล อัศวลาภนิรันดร จากทางทีมสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธิดา บุตรแขก, กิตติพันธุ์ ชินวรรณโชติ และดร.สรไกร เรืองรุ่ง จากทีมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งศิลปินผู้ออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะแต่ละท่านมีความชำนาญที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามแต่ละแขนงอาทิ งานประดับผ้ากับหัววัวลาน งานสร้างสรรค์หัววัวจากโลหะ เป็นต้น
ภายในงานยังการถอดสุนทรียะของงานหัตถศิลป์สกุลช่างเพชรบุรีโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ และมีการจัดกิจกรรมอบรมทักษะงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นอันควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไปคู่กับเพชรบุรีและประเทศของพวกเรา
โดยนิทรรศการ“คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี”จะจัดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งทางคณะผู้จัดนิทรรศการขอเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านมาร่วมสนุกและอนุรักษ์งานช่างหัตถศิลป์เมืองเพชรบุรีไปด้วยกัน
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “คันฉ่องส่องเพ็ชร์ : มรดกภูมิปัญญาแห่งพริบพรี” ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2565 ณ หอวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี