คาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เห็นว่า ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศได้กำหนดให้มีการใช้กลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและการตอบสนองต่อการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC)
การทำความเข้าใจถึงที่มาและกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบของตลาดคาร์บอนเครดิต จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่นี้ จะเป็น 10 ข้อควรรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต
● อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ถูกริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1992 เพื่อวางเป้าหมายการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาพรวม โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นผู้นำร่องในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้มีการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา
● พิธีสารเกียวโต ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1997 เพื่อกำหนดกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายอันเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีพันธกรณีช่วงแรก ในระหว่างปี ค.ศ.2008-2012 และขยายเป็นพันธกรณีช่วงที่สอง ในระหว่างปี ค.ศ.2013-2020 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา
● ความตกลงปารีส ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.2015 ให้มีผลบังคับแทนที่กลไกพิธีสารเกียวโต เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการกำหนดพันธกรณี จากเดิมที่ผูกพันเฉพาะสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว มาเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของรัฐภาคีทั้งหมด ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
● ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง UNFCCC (ในปี ค.ศ.1994) พิธีสารเกียวโต (ในปี ค.ศ.2002) การแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา (ในปี ค.ศ.2015) และความตกลงปารีส (ในปี ค.ศ.2016)
● โดยที่ประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภาคผนวก 1 ของ UNFCCC อันเป็นผลให้ไม่เป็นประเทศที่มีข้อผูกพันในภาคผนวก B ตามพิธีสารเกียวโต จึงไม่มีเป้าหมายในการดำเนินการที่เป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย
● จนกระทั่งการบังคับใช้ความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศต้องเสนอแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ประเทศไทยจึงได้แถลงว่า จะมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 (หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ) และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065
● ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส โดยยังมิได้มีการนำระบบตลาดคาร์บอนในรูปแบบ “ภาคบังคับ” มาใช้สำหรับการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือใช้เพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ
● ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยปัจจุบัน ยังเป็นรูปแบบ “ภาคสมัครใจ” ที่เป็นการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศ
● แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน และในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการน้ำเสียชุมชน การนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม การลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร การดักจับ กักเก็บ และ/หรือใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
● โครงการที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ในส่วนเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมีกำหนดระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิต ไม่เกินระยะเวลาการดำเนินงานตามเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งต้องเป็นโครงการที่มีการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินเพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก
ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นกลไกทางตลาด ตามความตกลงปารีส (และการเปลี่ยนผ่านจากพิธีสารเกียวโต) สามารถศึกษาได้จาก A Guide to UN Market-based Mechanisms ที่ลิงก์ https://unfccc.int/blog/a-guide-to-un-market-based-mechanisms
บทความ : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ประธานสถาบันไทยพัฒน์