5 ธันวาคมของทุกปี คือ "วันดินโลก" เพื่อเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ "ดิน" ทรัพยากรธรรมชาติที่โลกขาดไม่ได้
จุดเริ่มต้น "วันดินโลก" (World Soil Day) ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นวันสำคัญตามมติจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงงานตลอดพระชนม์ชีพและพระราชปณิธานของพระองค์
ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านผ่านการจัดการดินอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการจัดตั้งรางวัล King Bhumibol World Soil Day ประจำปี (WSDA) เพื่อยกย่องบุคคล/สถาบันที่จัดงานวันดินโลกในทุกระดับตามกรอบการรณรงค์ของวันดินโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ "วันดินโลก" ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ ดิน เนื่องจาก ดิน ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืนความต้องการใช้ทรัพยากร ดิน มีเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งทุกวันนี้ ทรัพยากรดินมีอยู่จำกัด ไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ หากมีการเสื่อมสลายไป การใช้ที่ดินผิดประเภท ขาดการอนุรักษ์ และป้องกันปัญหาที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลต่อคุณภาพ กำลังผลิตของดิน และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนเดิมจะทำได้ยากขึ้นด้วย
สำหรับ "วันดินโลก" 2565 กระทรวงมหาดไทย ได้มีการจัดกิจกรรม "วันดินโลก" ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins)” ในหลายจังหวัด
จังหวัดแรกที่อุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อตอกย้ำสร้างการรับรู้ “วันดินโลก”แก่ประชาชน ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน และเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร พระผู้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งดินโลก"
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปร่วมเดินรณรงค์และเป็นประธานเปิดงานวันดินโลก ปี 2565 (World Soil Day 2022) ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins)” โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมงาน โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายอำเภอ คณะทำงาน Change for Good กระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนจิตอาสา และภาคีเครือข่ายทั้ง 25 อำเภอรวมกว่า 500 คน ร่วมกิจกรรม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ขอเชิญชวนคนไทย หน่วยงาน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของ "วันดินโลก" ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทุกวันที่ 5 ธ.ค. เท่านั้น เเต่ขอให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอดสิ่งดี ๆ ให้เป็นวิถีชีวิต”
แม้ว่าผลลัพธ์ของการดำเนินการจะช่วยกันทำนุบำรุงให้แผ่นดินของพวกเรามีความอุดมสมบูรณ์ มีสภาพที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งจุลินทรีย์ ฮิวมัส ไส้เดือน กิ้งกือ แมลงต่าง ๆ และผลหมากรากไม้ ต้นพืช ต้นไม้ใหญ่โตจนถึงต้นหญ้าได้เจริญงอกงามและเราทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุขแล้ว
ในท้ายที่สุดจะส่งผลมาทำให้โลกของเราซึ่งกำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Change) ได้รับการเยียวยา ทำให้โลกใบนี้สวยงาม พืชผักธัญญาหารจะเพิ่มพูนเพิ่มมากขึ้น แต่เป้าหมายสูงสุด คือ “การพัฒนาคน” สมกับเจตนารมณ์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2565 จะเชิญชวนให้คนทั้งโลกช่วยกัน กลับมาดูแลปรนนิบัติแก้ไขในสิ่งผิดกับพื้นดิน เพื่อให้ผืนดินนั้นกลับกลายมาเป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งหลาย ให้ผืนดินเป็นแหล่งกำเนิดเกิดอาหารที่ปลอดภัย ดังแนวคิดของวันดินโลกที่ว่า Soils, where food begins อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน