สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมพลัง "Social Lab Thailand" ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ถอดบทเรียน 3 งานวิจัยเด่น โชว์นวัตกรรมพร้อมใช้ สู่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พร้อมสื่อสารสาธารณะเพื่อการขยายผล
ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลง พึ่งตนเองได้ และมีพลัง สามารถมีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาสังคม รวมถึงส่งต่อประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้ โซเซียล แล็บ (ประเทศไทย) ถอดบทเรียน “โครงการวิจัยโปรแกรมพัฒนาผู้สูงวัย” ซึ่งมีความโดดเด่น มีนวัตกรรมพร้อมใช้ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น “ต้นแบบ” เพื่อขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอผล “โครงการถอดบทเรียน 3 งานวิจัยโปรแกรมพัฒนาผู้สูงวัยที่มีนวัตกรรมพร้อมใช้” และนำเสนอสู่สาธารณชนแล้ว โดยมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณาจารย์ที่รับผิดชอบโครงการ เข้าร่วมนำเสนอผลวิจัย พร้อมทั้งผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุจากหลายพื้นที่เข้าร่วมเรียนรู้และให้ความสนใจที่จะนำบทเรียนไปขยายผล เพื่อดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ อาทิ นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี, กลุ่มผู้สูงอายุ ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ อ.ศาลายา จังหวัดนครปฐม, ชุมชนบ้านหัวอ่าว ต.สามพราน จังหวัดนครปฐม, ชุมชนเทศบาลตำบลป่าไผ่ จังหวัดลำพูน, และชุมชนแม่มอก อ.เถิน จังหวัดลำปาง
การถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อน 3 โครงการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ โดย วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความน่าสนใจคือ การสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน แม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง นำไปสู่การสร้างวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ และมีหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุ หรือ “แม่มอกโมเดล” สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และทำให้ปัญหาการขาดแคลนนักบริบาลผู้สูงอายุในพื้นที่หมดไป
ในการถอดบทเรียนพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จคือ จะต้องมีคนที่มีใจ อยากทำจริงๆ โดยเฉพาะครูพี่เลี้ยง คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน ต้องมาจากคนในพื้นที่ มีจิตอาสาสูง และมีช่องทางให้แม่บ้านและคนในชุมชน ก้าวมาเป็นนักบริบาลได้ง่าย เช่น โครงการ “เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง” เมื่อเรียนแล้วมีพื้นที่ให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่การให้ความร่วมมือ มีการติดตามผล การเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงินมาช่วย
2) โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง โดย ภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สามารถยกระดับ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ในหลายจังหวัดให้เป็น “กิจการเพื่อสังคม” โดยมีหลักสูตรผู้ประกอบการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ มีการสอนออนไลน์ และการฝึกปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทำให้ผู้สูงอายุสะดวกในการเรียน ซึ่งในการถอดบทเรียนพบ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ คนในชุมชน และคนที่เข้าร่วม มีความมุ่งมั่น ศรัทธา และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุจริงๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
3) โครงการพลังเกษียณสร้างชาติ : ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่ สู่การนําไปใช้ที่ยั่งยืน โดย วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “มีดี” และการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุดิจิทัล “เกษียณมีดี” ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้แบบดิจิทัล มีทักษะ และสามารถใช้โซเซียลมีเดีย จนถึงการเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ สร้างอาชีพและมีรายได้ในวัยเกษียณ โดยพบว่าปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของโครงการนี้ คือความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการเซ็นต์ MOU เพื่อโอกาสใหม่ๆ การสร้าง Branding เพื่อให้เป็นที่จดจำและรู้จักในวงกว้าง รวมทั้งการใช้ Digital Marketing เผยแพร่กิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ โดยแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นใช้งานได้จริง ง่าย และสวยงาม
สำหรับผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมฟังการนำเสนอการถอดบทเรียนฯ ทวัญ ห่วงตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าโครงการบริบาลผู้สูงวัยและโครงการเกษียณมีดี ทั้งสองโครงการมีประโยชน์และเหมาะสมกับผู้สูงอายุอย่างมาก เทศบาลฯ จะต้องทำให้เกิดขึ้น และสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะสอดรับกับนโยบายรองรับสังคมสูงวัยที่เทศบาลฯ กำหนดไว้แล้ว แต่โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุยังมีอุปสรรคในเรื่องพื้นที่ซึ่งจะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป โดยวางแผนไว้ว่าจะจัดหาพื้นที่ซึ่งเป็นของทางเทศบาลฯ เอง เพื่อจะสามารถใช้พื้นที่ดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่องยาวนานและมีความยั่งยืน
ส่วนความสนใจเรื่องการบริบาลผู้สูงอายุ เนื่องจากการฝึกอบรมนักบริบาล ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่ และมีหลักสูตรการเรียนชัดเจน รวมทั้งมีใบรับรองเมื่อเรียนสำเร็จ ทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้จริง เป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงวัยหรือผู้รับการบริการ เนื่องจากปัจจุบันยังขาดแคลนนักบริบาลจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถหลายด้านทั้งทำอาหาร ดูแลบ้าน และยังบริบาลได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังมีจุดเด่นเพราะคนต่างจังหวัดโดยส่วนมากมักจะมีจิตใจดี ไม่เครียดมาก
ส่วนโครงการเกษียณมีดี มีความน่าสนใจเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวอยู่แล้ว เช่น การทำขนม ฯลฯ แต่ไม่รู้ว่าจะขายที่ไหน ดังนั้น เมื่อมีโครงการนี้ทำให้รู้จักช่องทางใหม่ๆ เช่น ไลน์ หรือแอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นร้านค้าสำเร็จรูปอยู่แล้ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทำให้มีอาชีพ มีรายได้ โดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ไม่ต้องเสียค่าเช่าร้าน ทั้งยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย
วาษิณี เชื้อวงศ์ กรรมการพิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดิ์ดี จ.นครปฐม ในฐานะหนึ่งในผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมรับฟังการถอดบทเรียนฯ กล่าวว่า ต้องการทำโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะเป็นองค์ประกอบ หรือเอื้อให้เกิดความสำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง การได้ฟังวันนี้ทำให้เกิดไอเดีย เกิดประกายความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าจะทำโรงเรียนผู้สูงอายุให้สำเร็จให้ได้ แล้วจะนำวิชาต่างๆ ใส่เข้าไปในโรงเรียน ทั้งวิชาการบริบาล และเกษียณมีดี เพื่อให้ผู้สูงอายุ และผู้สนใจได้รับรู้และเรียนรู้ แล้วนำมาต่อยอด อย่างการบริบาลอาจจะไม่ได้ไปบริบาลคนอื่น แต่นำความรู้มาบริบาลตัวเองให้ไม่ป่วย เมื่อสุขภาพดีก็จะไปเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ใหม่ๆ หรือกลโกงจากโซเชียลมีเดียต่างๆ
การทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการดูแลตนเองให้แข็งแรง เรื่องโลกโซเชียล รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ผู้สูงวัยมีภูมิคุ้มกันที่ดี จึงอยากสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุและทำให้สำเร็จให้ได้ ด้วยการจับมือกับชุมชนอื่นที่ใกล้ชิดกันเพื่อช่วยกันหาองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพ ผู้มีส่วนร่วม ฯลฯ เพื่อทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุของพุทธมณฑล และโรงเรียนผู้สูงอายุของบ้านวัดสุวรรณ เกิดขึ้นจริง และเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง โซเชียล แล็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การสรุปผลวิจัยการถอดบทเรียน “โครงการวิจัยโปรแกรมพัฒนาผู้สูงวัย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวทีที่ทำให้ได้แบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้ทำวิจัยกับนักวิจัยทั้ง 3 แผนงาน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีการเชิญผู้นำที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่น่าจะมีโอกาสนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง เพื่อผู้สูงวัยและทุกคนในชุมชน โดยเห็นได้ชัดว่าทุกท่านที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนไปประยุกต์ใช้ต่อ ด้วยการลงมือทำจริง อย่างไรก็ตาม ชุมชนจะต้องร่วมคิดร่วมทำ นำบทเรียนต่างๆ ไปปรับใช้ โดยคำนึงถึงบริบทต่างๆ และพื้นที่ของตนเองด้วย
ทั้งนี้ ตามปกติหลายครั้งงานวิจัยเป็นเรื่องวิชาการ ซึ่งในการนำไปใช้จริงอาจจะมีความซับซ้อน ความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายงานวิจัยแต่ละชิ้น ดังนั้น ความสำคัญของการถอดบทเรียน เป็นการช่วยให้ความซับซ้อนมีความเรียบง่ายขึ้น ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะจุดมุ่งหวังคือการขยายผล และมีเป้าหมายอยู่ที่ความสำเร็จของงานวิจัยต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่มุ่งหวังเพียงกำไร ยังมุ่งให้เกิดประโยชน์เป็นคุณค่าด้านจิตใจ โดยเฉพาะด้านสังคมและด้านวัฒนธรรม