กรมอุทยานฯ ประกาศรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว ประจำปี 2565 จำนวน 25 แห่ง ปีนี้ในประเภท G – Green Plus ได้ 2 แห่ง คือ อุทยานฯแม่วาง จ.เชียงใหม่ และ อุทยานฯ ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
เมื่อวานนี้ ( 10 พ.ย. 2565) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Park) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน
ในปี 2565 มีอุทยานแห่งชาติที่ผ่านการตรวจประเมินจำนวน 25 แห่ง แบ่งออกเป็น ประเภท G – Green Plus 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภท G – Green ระดับทอง จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง อุทยานแห่งชาติภูซาง จังหวัดพะเยา อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
ประเภท G – Green ระดับเงิน จำนวน 8 แห่ง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติบางลาง จังหวัดยะลา และอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ ระดับทองแดง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติคลองพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของอุทยานแห่งชาติ ให้เกิดการใช้ประโยชน์และทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแว่ดล้อม มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย ลดและเลิกใช้สารเคมีอันตราย มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตรฐาน มีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว เป็นการยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติสู่มาตรฐานสากล