xs
xsm
sm
md
lg

ลอยกระทง ไม่ให้หลงทาง! ลดก่อภาระต่อสิ่งแวดล้อม / ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโอกาสที่ใกล้จะถึงวันประเพณีลอยกระทงปีนี้ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 อยากให้ข้อมูลเป็นแนวทางในการร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง โดยไม่สร้างภาระกับสิ่งแวดล้อม และบรรลุ “กระทงโฟมเหลือศูนย์” หรือ “Zero กระทงโฟม” รวมถึงยังป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19
ประเพณีลอยกระทงในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล แม้จะมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของการลอยกระทงหลายประการ แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นการขอบคุณพระแม่คงคาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ที่ให้น้ำไว้ใช้ในการเกษตรและประโยชน์อื่น ๆ และเป็นการขอขมาที่ได้ลงอาบน้ำและปล่อยของเสียลงไป เดิมทีการทำกระทงนิยมทำด้วยใบตอง ใบพลับพลึง กาบมะพร้าว ประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ แล้วปักธูปเทียนบนวัสดุที่ไม่จมน้ำ นำไปปล่อยลงให้ลอยไปตามลำน้ำ แต่ปัจจุบัน ปริมาณกระทงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการดัดแปลงกระทงโดยใช้วัสดุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดขยะตกค้าง ขัดขวางการระบายน้ำ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่ากทม.พบว่าระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนกระทงลดลงต่อเนื่อง ปี 2561 จัดเก็บกระทง ได้ 841,327 ใบ ปี 2562 จัดเก็บกระทง ได้ 502,024 ใบ ปี 2563 จัดเก็บกระทง ได้ 492,537 ใบ และปี 2564 จัดเก็บกระทง ได้ 403,235 ใบ

ที่น่าสนใจ เมื่อปีที่แล้วจำนวนกระทงเก็บได้ทั้งหมด 403,235 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย จำนวน 388,954 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.46 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 14,281 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.54 ซึ่งสรุปได้ว่าคนหันมาใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น มีการใช้โฟมลดลงอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการคัดแยกกระทงแล้ว กรุงเทพมหานครได้นำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

ส่วนกระทงโฟมจะนำไปกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกวิธีที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม หรือเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมต่อไป

คงเห็นแล้วว่า การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ของสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำให้ประชาชนและผู้ขายกระทงมีความตระหนักและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ถึงแม้ในช่วง 2-3 ปีนี้มีการลดลงของจำนวนกระทงเป็นผลจากปัจจัยการลดลงของนักท่องเที่ยว ความระมัดระวังตนเองของประชาชนจากโรคโควิด-19 รวมถึงการที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่นการลอยกระทงแบบออนไลน์ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม มีคนอีกไม่น้อยทั้งผู้ลอยกระทงและผู้ขายกระทง ทั้งที่ไม่ทราบ บ้างก็ยังไม่ตระหนักถึงแนวทางการลอยกระทงรักษ์โลกซึ่งกำลังเป็นวิถีในการดำเนินชีวิตรักษาสภาพแวดล้อมอยู่ในเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ผมขอแนะนำการไปร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ดังนี้

ไปด้วยกัน ใช้กระทงเดียวกัน ได้แก่ ครอบครัวละหนึ่ง คู่รักละหนึ่ง กลุ่มละหนึ่ง เพื่อ “กระทงจะได้ไม่หลงทาง” เป็นการลดจำนวนกระทงที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและเป็นภาระจัดเก็บหลังเสร็จงาน และช่วยประหยัดสำหรับผู้ที่จะซื้อกระทงอีกทางหนึ่งด้วยถึ

เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ โดยใช้หยวกกล้วย กาบกล้วย ใบตอง นำเป็นประดิษฐ์กระทง ประดับด้วยกลีบดอกบัวหรือดอกไม้ กระทง กลัดด้วยไม้แทนเข็มหมุด ในลักษณะนี้จะไม่ย่อยสลายหรือจมลงเร็วเกินไป สามารถจัดเก็บและนำไปกำจัดได้ง่ายหลังจากเสร็จงาน หรือแม้มีบางส่วนที่เล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อมก็สามารถย่อยสลายได้

หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุกระดาษ ซึ่งอาจจมน้ำหรือเปียกน้ำ แล้วจะยุ่งยากในการจัดเก็บ เท่ากับเป็นการสูญเสียทรัพยากรไป และควรนำไปรีไซเคิล ที่เกิดประโยชน์มากกว่า

หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุพวกแป้ง ขนมปัง ที่ตั้งใจจะให้เป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำ แต่วัสดุพวกนี้ซับน้ำได้เร็วยุ่ยง่าย จมเร็ว และเป็นสารอินทรีย์ย่อยสลายได้เร็ว หากมีจำนวนมาก สัตว์น้ำไม่สามารถกินได้หมด จะทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการเพิ่มความสกปรกให้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะในสระน้ำ บึง หรือหนองน้ำที่น้ำไม่ไหลเวียน หรือแหล่งน้ำนิ่ง

ควรเลือกวัสดุประเภทเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการแยกกระทงไปจัดการต่อของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อได้ทำการจัดเก็บหลังเสร็จงานแล้ว เช่น ทำจากใบตองหรือวัสดุธรรมชาติเป็นอินทรีย์ทั้งกระทง

งดการวัสดุพลาสติกและโฟม ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก พลาสติกบางชิ้นและโฟมไม่เหมาะในการนำไปรีไซเคิล หากเล็ดลอดสู่แม่น้ำและทะเลแล้วก็จะใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย เมื่อปีที่ผ่านมายังพบการใช้กระทงโฟมอยู่บ้าง ปีนี้จึงขอความรวมมืองดการใช้อย่างจริงจัง

งดใช้ลวด แม็กซ์ หมุด ตะปู ในการยึดวัสดุทำกระทง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจหลุดและตกลงสู่แหล่งน้ำ เป็นอันตรายได้และหากจัดเก็บกระทงมาได้ก็ยากในการคัดแยกเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี จึงควรใช้ไม้กลัดจากวัสดุธรรมชาติแทน

ส่วนแนวทางจัดการกระทงหลังเสร็จงาน สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีดังนี้

วางแผนและเตรียมการจัดเก็บกระทง โดยเฉพาะจากการจัดงานประเพณีและแหล่งชุมชน โดยกำหนดจุดจัดเก็บ เตรียมกำลังคน อาสาสมัคร เรือหรืออุปกรณ์ที่เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำ โดยอาจทำทุ่นลอยดักกระทงบริเวณปลายน้ำ เพื่อความสะดวกในการรวบรวม

คัดแยกวัสดุจากกระทง ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามที่วางแผนไว้เพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม ได้แก่ นำกระทงจากวัสดุธรรมชาติไปหมักเป็นสารบำรุงดิน หลีกเลี่ยงการนำกระทงที่จัดเก็บมาได้ทั้งหมดไปฝังกลบรวมกัน เพราะจะทำให้เปลืองพื้นที่ฝังกลบ

รวบรวมวัสดุที่คัดแยกนำไปจัดการอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาเรื่องสถานที่ ค่าใช้จ่าย และระบบที่มีอยู่

วัสดุธรรมชาติ จำพวกหยวกกล้วย ใบตอง ใบไม้ ดอกไม้ รวมถึงวัสดุจำพวกแป้ง (หากสามารถจัดเก็บได้ทัน) ควรนำ ไปหมักเป็นสารบำรุงดิน ซึ่งต้องเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้าให้เหมาะสม

เทียนไข รวบรวมเพื่อนำไปหลอมใหม่

พลาสติก เลือกประเภทพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้หรือผู้ประกอบการรับซื้อ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือนำไปเผาในเตาเผาที่มีประสิทธิภาพและระบบควบคุมมลพิษ

โฟม รวบรวมนำไปสู่กระบวนรีไซเคิล ซึ่งต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและขนส่ง หรือนำไปฝังกลบ ซึ่งต้องพิจารณาถึงขนาดพื้นที่ของหลุมฝังกลบเพราะจะทำให้พื้นที่หลุมฝังกลบที่ใช้งานได้เหลือน้อยลง หรือนำไปเผาด้วยเตาเผาความร้อนสูงและมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ ซึ่งมีอยู่ในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตามปีนี้ควรงดกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กระทงโฟม
ขยะอื่น ๆ ที่ต้องกำจัด นำไปฝังกลบหรือการเผาด้วยเตาเผาตามระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในวันลอยกระทงปีนี้ ผมคาดว่าจำนวนคนร่วมกิจกรรมและกระทงจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ผู้คนอยากออกมาท่องเที่ยวข้างนอก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การลอยกระทงแบบรักษ์โลกในปีนี้ นอกจากต้องยึดหลักไปด้วยกันใช้กระทงเดียวกัน เลือกกระทงที่ไม่ไปขยะหรือสร้างภาระแก่สิ่งแวดล้อม ก็ยังควรต้องระมัดระวังตัวกันไว้ก่อน หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด

ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลและเตรียมความพร้อมในการจัดการกระทงหลังเสร็จงาน ส่วนผู้ที่ตัดสินใจงดไปร่วมงานลอยกระทง ซึ่งจะเลือกลอยกระทงแบบออนไลน์หรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้ระลึกถึงบุญคุณของแหล่งน้ำที่เราได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำกันครับ

บทความโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)



กำลังโหลดความคิดเห็น