Clip Cr.Farah News
เมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟเรียกร้องให้ทุกประเทศมีการเพิ่มงบประมาณอย่างเร่งด่วนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หลังหลายประเทศทั่วโลกมีระดับอุณหภูมิพุ่งสูงกว่าที่เคยมีมา เพื่อการปกป้องเด็กและชุมชนเปราะบางจากคลื่นความร้อนและผลกระทบอื่นๆ ซึ่งสถานการณ์มีโอกาสเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ คลื่นความร้อนมีโอกาสจะเกิดนานขึ้น รุนแรงขึ้น รวมถึงบ่อยขึ้นและแพร่หลายซึ่งจะส่งผลให้เด็กและชุมชนเปราะบางได้รับผลกระทบที่อันตรายมากขึ้นตามมาด้วย
ผลการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟระบุว่า เด็กจำนวน 559 ล้านคนกำลังเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง นอกจากนี้ เด็กจำนวน 624 ล้านคนกำลังเผชิญกับวิกฤตความร้อนประเภทใดประเภทหนึ่ง ได้แก่ การเกิดคลื่นความร้อนยาวนาน การเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง
ในปีนี้ นับเป็นปีที่คลื่นความร้อนทั้งในซีกโลกเหนือและใต้เกิดอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ รายงาน The Coldest Year of the Rest of Their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นผลกระทบของการเกิดคลื่นความร้อนต่อเด็กในวงกว้าง และเผยให้เห็นว่า แม้นานาประเทศจะประสบความสำเร็จในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่าค่าเป้าหมาย แต่เด็กทั่วโลกก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งได้ในสามทศวรรษข้างหน้า
รายงานดังกล่าวประเมินว่า ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) เด็กทั่วโลกจำนวน 2.02 พันล้านคน จะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ (low greenhouse gas emission scenario) หรือจะยังอยู่ในระดับสูงมาก (very high greenhouse gas emission scenario) ซึ่งอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.7 องศาเซลเซียส และ 2.4 องศาเซลเซียส ตามลำดับ
ตามรายงานยังชี้ให้เห็นว่า ความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนในประเทศไทย ก็น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน โดยในปี 2020 (พ.ศ. 2563) เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่าร้อยละ 75 หรือราว 10.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เด็กแทบทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นในปี 2050
รายงานดังกล่าวได้รับการจัดทำโดยความร่วมมือกับ The Data Collaborative for Children และได้รับการเปิดตัวร่วมกับ วาเนสซา นาคาเต้ทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ และองค์กร Rise Up Movement จากแอฟริกา ผลการศึกษาในรายงานฉบับนี้ย้ำให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของการยกระดับบริการต่าง ๆ สำหรับเด็ก เพื่อรองรับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากสภาวะโลกร้อน รวมทั้งความจำเป็นเร่งด่วนของการพยายามบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตความร้อนประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คลื่นความร้อนที่เกิดเป็นระยะเวลายาวนานและรุนแรงขึ้น และอุณหภูมิที่สูงสุดโต่งขึ้น
นางแคธรีน รัสเซลผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “สารปรอทในอากาศ รวมทั้งผลกระทบต่อเด็กกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน เด็ก 1 ใน 3 คน อาศัยในประเทศที่กำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง และเด็กเกือบ 1 ใน 4 คน กำลังเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง สถานการณ์ดังกล่าวกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ โดยในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า เด็กจำนวนมากขึ้นจะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่เกิดยาวนานขึ้น รุนแรงขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะต่อสุขภาพและสุขภาวะของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในวันนี้ โดยอย่างน้อยที่สุด รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกสองเท่าภายในปี 2050 ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องชีวิตและอนาคตของเด็กและอนาคตของโลกใบนี้”
คลื่นความร้อนมีอันตรายอย่างยิ่งต่อเด็ก เพราะพวกเขามีความสามารถน้อยกว่าผู้ใหญ่ในการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย ยิ่งเด็กเผชิญกับคลื่นความร้อนมากเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะมีปัญหาสุขภาพก็สูงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ภูมิแพ้ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ทารกและเด็กเล็กคือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุดต่อการเสียชีวิตจากการเกิดคลื่นความร้อน นอกจากนั้น การเกิดคลื่นความร้อนยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย โภชนาการ และการเข้าถึงน้ำสะอาด การศึกษา และความเป็นอยู่ในอนาคตของเด็ก
รายงานของยูนิเซฟพบว่า การเกิดคลื่นความร้อนยาวนาน กำลังส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวน 538 ล้านคน หรือร้อยละ 23 ของเด็กทั่วโลก ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านคน ในปี 2050 หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.7 องคาเซลเซียส หรือ 1.9 พันล้านคน หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2.4 องศาเซลเซียส ซึ่งย้ำให้เห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการมีมาตรการปรับตัวเพื่อควบคุมสภาวะโลกร้อนและปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างเร่งด่วน
เด็กอีกหลายล้านคนจะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง โดยขึ้นอยู่กับว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเพียงใด โดยภายในปี 2050 เด็กในซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะยุโรป จะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนที่มีความรุนแรงขึ้นที่สุด ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กในทวีปแอฟริกาและเอเชียจะเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่งอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ประเทศที่เด็กกำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่งมีจำนวน 23 ประเทศ โดยจะเพิ่มเป็น 33 ประเทศ ภายในปี 2050 หากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ หรือเพิ่มเป็น 36 ประเทศ หากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังอยู่ในระดับสูงมาก ทั้งนี้ ประเทศบูร์กินาฟาโซ ชาด มาลี ไนเจอร์ ซูดาน อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย คือประเทศที่คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มดังกล่าวไม่ว่าจะกรณีใด
วาเนสซา นาคาเต้ นักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ กล่าวว่า “ภัยพิบัติต่าง ๆ ในปีนี้ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ คลื่นความร้อนคือตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะแม้ปีนี้จะเป็นปีที่เกือบทุกมุมโลกมีอากาศร้อนขึ้น แต่มันจะเป็นปีที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในชีวิตของเราหลังจากนี้ อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ยังไม่รู้สึกถึงความร้อนดังกล่าว ดังนั้น ทางเลือกเดียวของเราคือการเพิ่มแรงกดดันให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ตัดสินใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวในการประชุม COP27 เพื่อเด็กทุกคนทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่สุด ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคลื่นความร้อนจะยิ่งรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากยังไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน”
องค์การยูนิเซฟ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ ดังนี้
• ปกป้องเด็กจากภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการปรับปรุงบริการทางสังคม ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนบริการทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ความสะอาด สุขภาพ การศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองทางสังคม และการคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการผลิตอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและเป็นหลักประกันการเข้าถึงโภชนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มงบประมาณเพื่อการป้องกันปัญหา การเฝ้าระวัง และการให้การรักษาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก แม่ และประชากรในกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ ในการประชุม COP27 การตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กและสิทธิเด็ก
• เตรียมความพร้อมให้เด็กมีชีวิตอยู่ในโลกที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทุกประเทศต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ และการฝึกอบรมทักษะสีเขียวแก่เด็ก รวมทั้งโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการตัดสินเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในการประชุม COP27 ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) รวมทั้งคำมั่นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เยาวชน
• ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศพัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในการประชุม COP26 ที่จะเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และอย่างน้อย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับตัวจะต้องมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ทั้งนี้ การประชุม COP27 จะต้องมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้ว และให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของเด็กและชุมชนในการหารือเกี่ยวกับมาตรการและการสนับสนุนต่าง ๆ
• ป้องกันภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการยึดมั่นเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 14 ในสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความวิบัติจากสภาวะโลกร้อน รัฐบาลทุกประเทศต้องทบทวนนโยบายและแผนการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีเป้าหมายสูงขึ้น โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 45 ภายในปี 2030 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
ข้อมูลอ้างอิง https://www.unicef.org/reports/coldest-year-rest-of-their-lives-children-heatwaves