สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษา จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ค่ายพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนรุ่นใหม่” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้บริโภค จุดประกายให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชน ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่จะช่วยขับเคลื่อนพลังสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถูกจัดตั้งตามกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ติดตาม เฝ้าระวัง เตือนภัย สินค้าและบริการต่างๆ และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในทุกมิติ รวมถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้บริโภคเท่าทันผู้ประกอบการ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโกง การเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ
ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก 269 องค์กร และมีหน่วยงานประจำจังหวัด 14 หน่วยงาน อยู่ใน 6 ภูมิภาค ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหาผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ย เรียกร้องการชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย และในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ก็เป็นตัวแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งการยกระดับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศ
“การสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของผู้บริโภค เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของสภาองค์กรของผู้บริโภค ดังนั้น การขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคจากสภาฯ สู่เยาวชน ภายใต้โครงการ ‘ขยายภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษา’ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคสู่คนรุ่นใหม่” สารี กล่าวย้ำ
สำหรับภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ ทองเลิศ คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ปรึกษา “โครงการขยายเครือข่ายภาคี 10 สถาบันการศึกษา รู้สิทธิของผู้บริโภค” กล่าวเกี่ยวกับความร่วมมือในภารกิจครั้งนี้ว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีบทบาทสำคัญกับสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก ข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์มีทั้งข้อมูลจริง ข่าวลือ และข่าวลวง ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นได้ทั้งส่งสารและเป็นผู้รับสาร โดยจะมีสื่อสังคมออนไลน์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม ไลน์ ติ๊กตอก ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน นอกจากเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารให้กับผู้คนแล้ว หลายครั้งยังสามารถทำให้เกิดประเด็นต่างๆ ที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจสูง และสื่อสารให้ความเห็นส่งต่อกันอย่างกว้างขวาง
คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ระบุว่า การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (influencer) จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สื่อสาร เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค รวมถึงใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสารผ่าน influencer กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังทางความคิดมีพลังสร้างสรรค์ที่จะกระจายอยู่ทั่วไปในสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรู้ด้านสิทธิผู้บริโภคผ่านโครงการนี้
“หากเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ระดมความคิด แลกเปลี่ยนความเห็น และต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์งานในแบบฉบับของตนเอง โดยอาจจะมีความแตกต่างกันในบริบทของแต่ละภูมิภาคของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เราก็จะเห็นภาพรวมของงานที่มีความหลากหลาย ซึ่งมุ่งไปที่แก่นประเด็นเนื้อหาเดียวกัน นั่นคือ “สิทธิของผู้บริโภค” ทั้งนี้ การสร้างคนรุ่นใหม่ และทำให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพในเรื่องการสื่อสารมาร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิผู้บริโภค น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้และลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง” ที่ปรึกษาโครงการขยายภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษาฯ กล่าวเพิ่มเติม