เคพีเอ็มจี ได้เผยแพร่ผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนฉบับล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ต.ค.2022) ภายใต้เอกสารที่ชื่อว่า Survey of Sustainability Reporting 2022: Big shifts, small steps โดยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อสิบปีที่แล้ว บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 64 มาในปีปัจจุบัน (ค.ศ.2022) บริษัทในกลุ่มดังกล่าว ที่เคพีเอ็มจีเรียกว่า บริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วย 5,800 บริษัท จาก 58 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 79
ขณะที่ ผลการสำรวจในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 หรือที่เรียกว่า บริษัทในกลุ่ม G250 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ อยุ๋ในอัตราสูงถึงร้อยละ 96 ในปีปัจจุบัน
การสำรวจดังกล่าว ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1993 และทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกๆ 2 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้นำในการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 82 อเมริกา ร้อยละ 74 ตะวันออกกลางและแอฟริกา ร้อยละ 56 ตามลำดับ
โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีอัตราการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน สูงกว่าร้อยละ 90 โดยเพิ่มจากร้อยละ 84 ในปี ค.ศ.2020 มาอยู่ที่ร้อยละ 97 ในปี ค.ศ.2022 และเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปี อยู่ในอัตราร้อยละ 86 ในปี ค.ศ.2022
ในการสำรวจมาตรฐานและแนวทางที่บริษัทใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน พบว่า มาตรฐาน GRI ยังคงเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้อ้างอิงมากสุดทั้งในกลุ่มบริษัท N100 และในกลุ่มบริษัท G250
โดยรายงานการสำรวจ ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 78 หรือราวสามในสี่ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการอ้างอิงมาตรฐาน GRI ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ
GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม
กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559
จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก เพื่อที่คุณภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อนึ่ง รายงานความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน
องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์
ประธานสถาบันไทยพัฒน์