xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ. แจ้งผล 15 ทีมเข้ารอบสุดท้าย ประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือ ปตท.สผ.ประกาศผลทีมนิสิต นักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ครั้งที่2 (The2nd Young Ocean for Life Innovation Challenge)ในโครงการPTTEP
Teenergy ปีที่8

ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) เพื่อให้ร่วมส่งผลงานสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ผ่านการประกวด 3 หัวข้อ ได้แก่ Protect, Preserveและ Provide ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 โดยมีนิสิต นักศึกษาระดับ ปวส. และปริญญาตรี ทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดรวม 79 ผลงาน มีผู้เข้าร่วมการประกวดรวมกว่า 300 คน จาก 27 สถาบันการศึกษา

สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมพิจารณาและตัดสิน ได้แก่ ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณไพรัตน์ สุทธิพล ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ คุณภาคภูมิ เกรียงโกมล บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด

นายชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล กล่าวว่า “ปตท.สผ. ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และขอชื่นชมในทุกผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่แสดงความตั้งใจที่จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย โดยเยาวชนที่ผ่านการเข้ารอบทั้ง 15 ทีม จะได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รูปแบบไฮบริด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ รับฟังเทคนิคและข้อคิดดี ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมนำมาต่อยอดและพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลงานในรอบตัดสินต่อไป”

ทีมที่ชนะเลิศในแต่ละหัวข้อ จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 130,000 บาท และเงินรางวัลพิเศษสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดอีกทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 900,000 บาท โดยงานประกาศผลการตัดสินและพิธีมอบรางวัล จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานประกาศผลการตัดสินและพิธีมอบรางวัล พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าชุมชน ได้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/pttepcsr

ล่าสุดได้ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ 15 ทีมสุดท้าย ประกอบด้วย


หัวข้อ Protect จำนวน 5 ทีม ดังนี้

1. ทีม SeaMaj7 ผลงาน หุ่นยนต์สำรวจและช่วยกำจัดอุปกรณ์ล่าสัตว์น้ำที่ถูกทิ้งร้างติดใต้ท้องทะเลผ่านระบบควบคุมขนาดพกพาได้ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. ทีม NSC ผลงาน การตรวจสอบขยะชายหาดโดยการตีความอัตโนมัติของภาพถ่ายทางอากาศไร้คนขับ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. ทีม THE GOLDEN MERMAIDS ผลงาน นวัตกรรมทุ่นดักจับขยะอัจฉริยะบริเวณปากคลองเพื่อสกัดขยะไหลลงสู่ทะเล และเรือสามารถผ่านได้ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

4. ทีม NAMI ผลงาน ทุ่นตรวจการณ์อัจฉริยะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

5. ทีม JTP ผลงาน เครื่องดูดไมโครพลาสติก จากมหาวิทยาลัยมหิดล


หัวข้อ Preserve จำนวน 5 ทีม

1. ทีม STORMY ผลงานการพัฒนาเทคโนโลยียึดติด satellite tag ยางพารา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

2. ทีม A.O.A ผลงานการสร้างอวัยวะเทียมให้สัตว์ทะเลหายากด้วยเครื่องพิมพ์ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกแบบ 3 มิติ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

3. ทีม Merleco ผลงานปกรณ์ไข่เต่า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

4. ทีม Blue 16 ผลงานกล่องฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล: เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน จากมหาวิทยาลัยมหิดล

5. ทีม THE PURIFIER ผลงานระบบปลูกหญ้าอัจฉริยะแก้ปัญหาแพลงก์ตอนบลูมและลดปริมาณไมโครพลาสติก จากมหาวิทยาลัยบูรพา


หัวข้อ Provide จำนวน 5 ทีม

1. ทีม Sea the future ผลงานเพื่อนประมง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. ทีม SRTC NEW GEN ผลงานเครื่องคัดขนาดปลาความแม่นยำสูงระบบอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

3. ทีม Fish Exclusive ผลงานการพัฒนาเครื่องมืออิเคจิเมะ (Ikejime) เพื่อยกระดับการเก็บรักษาปลาไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

4. ทีม TNB Class ผลงานการควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยด้วยไคโตซาน จากของเสียและเปลือกสัตว์ทะเล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

5. ทีม Shrimpney ผลงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมคุณค่าทางโภชนาการจากเปลือกกุ้ง จากมหาวิทยาลัยมหิดล


กำลังโหลดความคิดเห็น