ลูกช้างป่าพลัดหลงสองรุ่น รุ่นแรกหมายถึงพังน้อย “ทับเสลา” วัย 3 ขวบ ส่วนรุ่นสอง คือ พลายเด็กน้อย “ตุลา” วัยไม่ถึงเดือน ที่คาดว่าทางอุทยานฯ จะใช้ทับเสลา เป็นแม่แบบสำหรับวิถีการดำเนินชีวิตต่อไป
ทับเสลา นางเลือกไม่กลับเข้าโขลง
หลายคนที่ติดตามคงจำกันได้ ลูกช้างพลัดหลงที่ห้วยขาแข้ง ที่มีวีรกรรมพลีชีพ ไม่ยอมกลับเข้าโขลงถึงแม้โขลงออกมาตามตัวถึงสองครั้งสองคราก็ไม่ยอมไป ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาอยู่ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง เพื่อหาแม่รับ (แม่รับเลี้ยง) ซึ่งกว่าจะได้แม่วาเลนไทน์ที่เหมาะสมเป็นแม่รับที่สุด ก็ผ่านการทดสอบเพื่อให้เข้ากันได้ถึง 3 แม่
พัฒนาการล่าสุดของนางในวัย 3 ขวบ นอกจากเลิกกินนมขวดไปนานหลายเดือนแล้ว ยังฝึกให้เข้าไปใช้ชีวิตในชายป่าพร้อมกับแม่ และล่าสุดก็ฝึกเข้าไปพบปะกับช้างตัวอื่นๆ ในป่า เมื่อวานนี้ เหลา (ทับเสลา) ได้ลูกช้างพลายบรรหารกับแม่สุพรรษา มาอยู่ใกล้ๆ เหมือนร่วมใช้ชีวิตในโขลงข้างซึ่งพบว่าเข้ากันได้ดี (ตามคลิป)
"น้องตุลา" ลูกช้างป่าพลัดโขลง รุ่นสอง (ชมคลิป)
ขณะเดียวกัน ลูกช้างพลัดหลงที่ ขสป.เขาสอยดาว ถือว่าเป็นรุ่นสอง ในวันนี้ (15 ตุลาคม 2565) น้องตุลา พลายเด็กน้อย สุขภาพสดใสแบบดีวันดีคืน ส่วนอาการป่วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ถ้าไม่มีใครบอกก็คงไม่ทราบ ในช่วง 3 วัน (12-15 ต.ค.) สังเกตได้จากรายงานของสัตวแพทย์ที่ดูแล น้องตุลา กินนมเพิ่มขึ้นทุกวัน ออกกำลังกายเดินตามพี่ๆ ผู้ดูแลอย่างสนุกสนาน ไม่มีอาการเหนื่อย
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เผยความคืบหน้า การดูแลสุขภาพของลูกช้างป่า จากผลการตรวจตัวอย่างเลือดของลูกช้างป่าจากห้องปฏิบัติการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลการตรวจยืนยันโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ให้ผลสงสัย (suspect) ต่อเชื้อ EEHV type 1 โดยในระหว่างนี้ สัตวแพทย์จะดำเนินการให้ยาเพื่อใช้ต้านไวรัส เฮอร์ปีส์ไวรัส และจัดหาซื้อยาต้านไวรัสเพื่อให้เกิดความเพียงพอและความต่อเนื่องกับการรักษา รวมทั้งให้ยาเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันกับลูกช้างป่า นอกจากนี้เพื่อลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นกับลูกช้างป่า 100% จะงดการเข้าเยี่ยมชมจากบุคคลภายนอก
ตั้งแต่วันก่อน (12 ต.ค.65) เวลา 12.00 น. จนถึงวันนี้ เวลา 6.00 น. ลูกช้างกินนมทั้งหมด 11 ครั้ง จำนวน 6.9 ลิตร นอนหลับเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง การขับถ่าย ปกติ เป็นเนื้อครีมเหลว อุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37.0 องศาเซลเซียส
สุขภาพทั่วไปร่าเริง เริ่มป่ายปีนคอก เจ้าหน้าที่จึงพาออกเดินกำลังกายในตอนเช้า ให้ยาต้านไวรัสผสมกับนมให้กิน เสริมวิตามิน ซีกับนมให้กินนม ในช่วงคืนที่ผ่านมาได้ห่มผ้าและจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตลอดทั้งคืน ส่วนบาดแผลตามร่างกายแห้งสนิทดีและในระหว่างนี้จะมีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแลลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
พอวันต่อมา (13 ต.ค.) ตั้งแต่เวลา 6.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม จนถึงเวลา 6.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม กินนมทั้งหมด 13 ครั้ง จำนวน 7.4 ลิตร นอนหลับเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง การขับถ่าย ปกติ เป็นเนื้อครีมเหลว อุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37.0 องศาเซลเซียส ร่าเริง หมอให้ยาต้านไวรัสผสมกับนมให้กินเสริมวิตามิน ซีกับนมให้กินนมเสริมกรดอะมิโนโปรตีนทางเส้นเลือด ทางเจ้าหน้าที่ห่มผ้าและจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตลอดทั้งคืน บาดแผลตามร่างกายแห้งสนิทดีเดินออกกำลังกายในตอนเช้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
อีกวันต่อมา (14 ต.ค.) ตั้งแต่เวลา 6.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม จนถึงเวลา 6.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม กินนมทั้งหมด 15 ครั้ง จำนวน 8.8 ลิตร นอนหลับเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง การขับถ่าย ปกติ เป็นเนื้อครีมอุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 36.9 องศาเซลเซียส ร่าเริง ไม่มีอาการซึม
ให้ยาต้านไวรัสผสมกับนมให้กิน เสริมวิตามิน ซี กับนมให้กิน เสริมยาบำรุงเลือดให้กินกับน้ำแดง ห่มผ้าและจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตลอดทั้งคืน บาดแผลตามร่างกายแห้งสนิทดี และเริ่มมีตกเป็นสะเก็ด เดินออกกำลังกายในตอนเช้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เปลี่ยนถ่ายวัสดุปูรองพื้นภายในคอกเพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
ข้อมูลอ้างอิง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
NuNa Silpa-archa
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง