xs
xsm
sm
md
lg

“เจดีย์ชัย” หนึ่งในแปดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง ด้วย “ธรรมนูญตำบล” กับการมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ลานวัดลานสุขภาพชุมชน”
“ตำบลเจดีย์ชัย” อำเภอปัว จังหวัดน่าน คือ 1 ใน 8 พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาสู่พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ” ที่คัดสรรโดย Imagine Thailand Movement ด้วยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สร้างชุมชนต้นแบบที่ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง และพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในการตระหนักรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงในประเด็นต่างๆ โดยมี 8 พื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่มีบริบทและการขับเคลื่อนต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างพื้นที่สุขภาวะ ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เพื่อชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ด้วยต้องการให้ผู้นำแต่ละพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมเต็ม และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะในชุมชนของตนเอง จึงมีการจัดกิจกรรม “พัฒนาศักยภาพผู้นำ ภาคีการขับเคลื่อน และเยาวชนนักขับเคลื่อน โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ” ณ ตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement นำคณะผู้บริหาร ผู้นำชุมชน แกนนำเยาวชน และผู้แทนจากเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะทั่วประเทศ ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม

ล้อมวงคุย ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนเรียนรู
“ตำบลเจดีย์ชัย” ประสบความสำเร็จในการใช้กฎข้อบังคับที่เข้มแข็งที่ชุมชนร่วมกันสร้างขึ้นมา เรียกว่า “ธรรมนูญตำบล” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนชุมชนสู่ “ตำบลสุขภาวะ” ผู้คนสุขภาพดี และสังคมแวดล้อมดี ด้วยทุกคนยอมรับ ยึดถือ และนำมาใช้อย่างจริงจัง เช่น ในงานศพห้ามจัดให้เล่นการพนัน ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ หรือในการจัดงานเลี้ยง เจ้าของงานต้องนำตัวอย่างอาหารส่งสารวัตรอาหารให้ส่งต่อไปที่รพสต.ตรวจสอบความปลอดภัยก่อนจะนำขึ้นโต๊ะจัดเลี้ยง เพื่อป้องกันปัญหาจากวิถีการกินที่เคยทำให้ชาวบ้านนับร้อยเกิดอาการท้องร่วงเพราะกินลาบดิบ และเป็นการผลักดันเรื่องอาหารปลอดภัยให้ชุมชนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทั้งอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สภาเด็ก แกนนำเยาวชน โรงเรียน วัด ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมแม่บ้าน อสม. และชาวบ้าน พร้อมทำงานแบบมีส่วนร่วมและเป็นระบบ

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ที่ “โรงเรียนบ้านนาวงศ์” เด็กๆ ได้นำเสนอไอเดียต้องการเปลี่ยนจุดเสี่ยงบริเวณศาลาหน้าโรงเรียน ให้เป็นจุดเช็คอิน เปลี่ยนพื้นที่มั่วสุมของวัยรุ่น เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปัญหาที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น แต่เด็กมองเห็น จึงสะท้อนให้ร่วมกันตระหนักและแก้ไข ส่วน “โรงเรียนบ้านปงสนุก” เด็กๆ ทั้งกล้าคิด กล้านำเสนอ เพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ จึงอยากแก้ปัญหาที่มองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะการท้องก่อนวัยอันควรและการดื่มสุรา เพราะถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ฟังเสียงแกนนำเยาวชน โรงเรียนบ้านปงสนุก
สำหรับ “ลานวัดลานสุขภาพชุมชน” ที่วัดวังม่วง เกิดจากการลงมติของชาวบ้าน เลือกให้เป็นพื้นที่กลางของชุมชน และทางกำนันวางแผนไว้ว่าในแต่ละเดือน จะมีการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้สูงอายุมาทำกิจกรรม กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะแห่งใหม่ของชุมชน ในขณะที่ “ศูนย์การเรียนรู้เสริมทรัพย์เกษตรอินทรีย์” ของ พ่อเสริม คำแปง ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์และเกษตรพอเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชนที่เชื่อมต่อผู้คนหลายวัยและเรื่องราวดีๆ เช่น เรื่องราวด้านการเกษตรเชื่อมโยงสู่เรื่องการศึกษา มีการนำเยาวชนมาเรียนรู้ทั้งเรื่องการเกษตร และศิลปะ ไปพร้อมๆ กับเรื่องปัจจัยเสี่ยง เพราะตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกหลานชาวเจดีย์ชัย

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ตำบลเจดีย์ชัยได้พัฒนา “ลานวัดลานสุขภาพชุมชน” เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับชุมชนที่ทุกคนในตำบลเจดีย์ชัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ หัวใจสำคัญของพื้นที่สุขภาวะคือ “พื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม” เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในสังคมสามารถมาอยู่ร่วมกัน มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนสามารถมาเรียนรู้จากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้จากเด็กๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เอื้ออารีต่อกัน และให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะร่วมกันสร้าง และพัฒนาชุมชนต่อไป

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เชื่อว่าผู้นำหลายท่านสามารถเรียนรู้จากผู้นำตำบลเจย์ดีชัย ซึ่งมีบริบทแบบหนึ่ง การบริหารพื้นที่โดยสร้างให้เกิดความร่วมมือในพื้นที่ก็เป็นเสน่ห์ของตำบลเจดีย์ชัยที่ทำให้ผู้นำท่านอื่นๆ เห็นโอกาสในการนำไปทำไปพัฒนาพื้นที่และชุมชนของตนเอง เรื่องสำคัญคือการสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในชุมชนเอง ที่จะลุกขึ้นมาเห็นโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นในชุมชน

“จริงๆ แล้วทุกคนมีศักยภาพ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นสังคมหรือชุมชนที่อยู่ดีขึ้น มีสุขภาวะดีขึ้น คิดว่าเรื่องนี้จุดประกายส่วนหนึ่งด้วย ขณะเดียวกัน เชื่อว่าพวกเรามาร่วมกันให้กำลังใจผู้นำในตำบลเจดีย์ชัยที่ทำให้พื้นที่ของพวกเขาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทุกๆ คนอย่างยั่งยืนต่อไป”

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผนที่ 1
รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผนที่ 1 กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกชุมชนที่เป็นอย่างนี้ นี่เป็นชุมชนพิเศษที่น่าเอาเป็นตัวอย่างและเอาไปประยุกต์ แม้ชุมชนนี้ไม่ใช่กรณีของชุมชนทั่วไป แต่คิดว่าในสังคมยังมีชุมชนแบบนี้ไม่น้อยเพียงแต่เรายังเข้าไม่ถึง คิดว่าชุมชนแบบนี้จะเป็นกำลังใจ เป็นพลังผลักดันให้ค้นคว้า วิ่งเข้าหาคนเหล่านี้เพื่อมาต่อยอดให้มีจำนวนมากและมีคุณภาพที่ดี โดยในที่สุดหวังว่า เยาวชนแบบนี้จะเป็นตัวแทนเยาวชนไทยและเป็นสังคมไทยที่เราต้องการในอนาคต

“บางเรื่องอาจต้องช่วยสร้างขึ้นมา เช่น เรารู้ว่าสิ่งที่เขามีอยู่คือสิ่งที่เรียกกันว่า Active Citizen คือความตื่นรู้ ความตื่นตัวของประชาชนระดับรากหญ้า เราอาจจะเห็นว่าเขามีมาก อาจจะเป็นประเพณี หรือความเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทำให้เขามีความเป็นเอกภาพสูง และทำให้ชุมชนเหนียวแน่น ถ้าเรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ เราต้องกลับไปค้นว่า ชุมชนในภาคใต้ ภาคอีสานมีสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ถ้ามีก็ดึงออกมา เพราะว่ามันใช้ได้ดีในชุมชนที่เราไปพบ มันจะเป็นกรณีตัวอย่าง ให้เราไปขยายผลต่อได้ สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือเราได้ไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด และวิถีปฏิบัติของผู้คน จะเป็นประโยชน์จริงๆ”


ฤทธิเดช ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย กล่าวว่า ”ทุกกลุ่มวัยในตำบลเจดีย์ชัย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน เราเดินไปในทิศทางเดียวกันจุดมุ่งหมายคือพี่น้องชาวบ้าน และในการเชื่อมโยงเครือข่ายกับภาครัฐเราไม่มีปัญหา เราภาคภูมิใจจริงๆ คิดว่าเราไม่สูญเปล่าที่สร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา หลังจากนั้นเป็นเรื่องกิจกรรมของชุมชนที่ต้องเดินต่อ อยากให้คนทุกกลุ่มวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ แม่บ้าน อสม. รวมถึงสภาเด็กเยาวชน มาร่วมกัน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลูกหลาน เช่น จัดกิจกรรมเล่าเรื่องราวในอดีต และพูดคุยถึงสังคมไทยในวันนี้ ผู้ใหญ่จะดูแลเยาวชนอย่างไร ปัจจุบันเด็กอาจจะขาดผู้ใหญ่ที่คอยหนุนเสริม ดูแล แนะนำในการดำเนินชีวิต บางครั้งเด็กเอาความคิดของตัวเองมาเป็นที่ตั้งก่อน และเวลานำเสนอผู้ใหญ่มักไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เพราะฉะนั้น เมื่อมี “ลานวัดลานสุขภาพชุมชน” จะเป็นเวทีกลาง เป็นศูนย์รวมของชาวเจดีย์ชัยทั้งหมด

ผู้นำชุมชนต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เช่น นายอำนวย ชูหนู ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานกระบี่ ภายใต้ PDA นายเทวัญ ห่วงตระกูล นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.เจ็ดเสมียน โพธาราม จ.ราชบุรี และผู้นำชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมนทล จ.นครปฐม ล้วนประทับใจและมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญคือได้กำลังใจ ได้แรงบันดาลใจที่ได้เห็นคนทำงานแบบนี้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดดีๆ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ ถือเป็นประโยชน์มาก


กำลังโหลดความคิดเห็น