ใครๆที่เคยไปล่องเรือเที่ยวในเขื่อนรัชชประภา (ชื่อเดิมคือเขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะบอกตรงกันว่า วิวภูเขา ป่าเขียว และความเวิ้งว้างของทะเลสาบอันกว้างใหญ่นั้น ทรงเสน่ห์นัก
บ้างบอกว่า เป็นกุ้ยหลินเมืองไทย ว่าไปนั่น
ผมเพิ่งกลับจากทริปสำรวจโครงการจัดทำอารยสถาปัตย์ที่มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กับสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกันจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นอุทยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ภูเขาหลายยอดของที่นี่มียอดเขาสูงนับพันเมตรจากระดับน้ำทะเล และมีความสลับซับซ้อน
ข้อมูลทางธรณีวิทยาของที่นี่เผยว่าที่นี่เคยอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลมาก่อน จึงมีการพบฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณมากมายตามภูเขาเหล่านี้ ต่อมาแผ่นดินค่อยๆยกตัวขึ้น และกลายเป็นทางผ่านของการค้าขายของมนุษย์ยุคเก่า จึงทำให้ค้นพบเครื่องใช้เครื่องมือ เหรียญ ลูกปัด เครื่องประดับยุคโบราณกระจายตามเทือกเขาที่คงเคยเป็นเส้นทางในยุคนั้น
จากนั้นแผ่นดินก็ดันตัวขึ้นจนพ้นน้ำกลายเป็นป่าดิบเขาสมบูรณ์แบบบนแผ่นดิน มีพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์หายากกระจายตัวอยู่ที่ป่านี้
ชุมชนชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานที่นี่หลายกลุ่ม
รวมทั้งเคยเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นของสหายฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงทำให้ที่นี่ถูกเพ่งเล็งจากทางการ แต่การจะติดตามปราบปรามหรือไล่ล่าก็ลำบากนักเพราะป่าทึบ ทางชัน ไม่มีถนนเข้าถึงได้ง่ายๆ การพัฒนาด้วยการให้สัมปทานตัดไม้ ทำเหมืองแร่จึงถูกขัดขวางจากฝ่ายติดอาวุธที่ยังต่อต้านนายทุนและอำนาจรัฐในห้วงเวลานั้น
จะว่าไปก็กลายเป็นผลดีที่ทำให้ป่าฝนโบราณขนาดใหญ่แห่งนี้ พอจะรอดพ้นการรุกจากภายนอกไปได้อีกส่วน
ในยุคที่รัฐไทยก้าวสู่การพัฒนา การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บน้ำไว้ดันการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำ ได้ทำให้มีนโยบายกักการไหลของลำน้ำที่ไหลออกมาจากหุบเขาเหล่านี้
เชี่ยวหลานเป็นชื่อของหนึ่งในลำน้ำที่ว่า มีผู้อธิบายว่ามีลำน้ำชื่อคล้ายกันอีก 2-3 สายที่เคยไหลผ่าน ส่วนใหญ่มีคำว่า’’เชี่ยว’’ประกอบอยู่
น้ำคงแรงตามชื่อแหละ เพราะเป็นป่าดิบชื้น ได้รับฝนจากอิทธิพลของไอน้ำจากทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน สม่ำเสมอ
เมื่อกั้นสันเขื่อน น้ำจึงเอ่อขึ้นได้รวดเร็ว แต่แม้รัฐให้สัมปทานตัดไม้ออกเพื่อจะไม่ถูกน้ำท่วมยืนต้นตายเปล่าๆ แต่กระนั้นก็ตัดและชักลากออกกันได้ไม่ทันอีกมาก
ภาพจำของคุณสืบ นาคะเสถียรพยายามเอาเรืออกไปช่วยดึงสัตว์ป่าในน้ำให้รอดพ้นจากการยกระดับท่วม ด้วยหวังจะพาสัตว์ป่าไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่ปลอดภัย แต่ก็ทำไม่ทัน และต้องทนเห็นซากสัตว์ป่าลอยอืดต่อหน้าต่อตาแล้วรันทดน้ำตาไหลออกมา ก็คือภาพที่ถูกบันทึกที่เขาสกแห่งนี้นี่เอง
เพียงไม่นาน ป่าผืนนี้จึงกลายเป็นมหานทีน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ท่วมทับโคนเขา ไหล่เขา และแม้แต่ยอดเขาหลายลูกให้จมลงอยู่ใต้น้ำ
ภาพจำใหม่จึงเป็นกุ้ยหลินเมืองไทยอย่างที่นักท่องเที่ยวเรียกๆกัน
ทัศนียภาพของที่นี่ต่างจากภาพอ่างเก็บน้ำของเขื่อนส่วนใหญ่ เพราะที่นี่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า คือโดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 200 เมตร แถมเป็นพื้นที่ป่าฝนดงดิบทำนองเดียวกับป่าอเมซอนของอเมริกาใต้ นับเป็นป่าผืนใหญ่ที่ไม่ค่อยถูกรบกวนมาตั้งแต่ยุคอดีต
ความหลากหลายทางชีวภาพหลายอย่างแม้ถูกน้ำท่วมทับจนสูญไป แต่ก็เพิ่มความชื้นมหาศาลให้ป่าดิบบนเขาหินปูนธรรมชาติในระดับความสูงที่ปกติไม่ค่อยพบเจอ
จึงกลายเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ที่ให้ความชุ่มชื้นที่ใครมาเห็นก็ต้องตะลึงในความแปลกตา
หนึ่งคืนที่ผมค้างในเรือนแพที่อุทยานเขาสกแห่งนี้มีฝนปรอย เลยไม่มีโอกาสนอนส่องดาวเต็มฟ้าอย่างที่มีผู้เล่าว่าเป็นสิ่งน่าชมนัก
แต่ครั้นรุ่งเช้าฝนหยุด จึงพบว่าเรานอนอยู่ในดงทะเลหมอกที่ไอน้ำเหล่านี้ยังคงทนอยู่จนแม้จะถึงเที่ยงวัน ด้วยเพราะอุณหภูมิ ความชื้น ความสูง และผืนป่าที่คายไอน้ำ และบวกกับลมที่ผิวน้ำ ช่างเป็นใจเหลือเกิน
ครั้นมองลงไปในน้ำที่เขียวใสไม่ขุ่นเลย เนื่องเพราะน้ำจากเขาหินปูนทำให้สารแขวนลอยตกตะกอนเร็ว ทำให้เห็นลงไปได้ลึก ฝูงปลาน้ำจืดใหญ่น้อย ว่ายเวียนไปมา บ้างมีครีบหลังสดใสทั้งฝูงเช่นตะเพียนหางแดง บ้างตัวใหญ่ยาวเกินครึ่งเมตรแต่อยู่ระดับลึกกว่า เพียงแต่ผมดูยังไม่ออกว่าพันธุ์อะไร สอบถามคนท้องถิ่นได้รับคำตอบว่าปลาที่นี่มีสารพัด ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำที่เคยอยู่เดิมตามธรรมชาติในถิ่นนี้ ซึ่งหายากแล้วในถิ่นอื่นๆ และยังมีปลาที่กรมประมงนำมาลงเพิ่ม เช่นปลาเศรษฐกิจทั้งหลาย หรือแม้แต่ปลาบึกก็มี
มองขึ้นฟ้าเห็นนกสารพัดหน้าตา บินเดี่ยวบ้าง เป็นหมู่บ้าง มีผู้พบเห็นนกหายากทั้งที่เป็นนกถิ่นอย่าง นกเงือก อยู่เสมอๆ ตามเขาและเกาะที่มีกว่า 150เกาะในอ่างเก็บน้ำนี้ นกเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าอย่างหนึ่ง มองไปไกลๆยังสามารถเห็นสัตว์ปีกอพยพบินมาลงน้ำตามฤดูกาล ที่นี่ล้อมรอบอุทยานไปด้วยเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯหลายๆเขต ผืนป่าของที่นี่เชื่อมกับผืนป่าของระนองขึ้นไปทางเหนือ จึงทำให้สัตว์ป่าจากเมียนมาร์สามารถข้ามแดนผ่านระนองลงมาถึงเขาสกนี้ไปได้ด้วย
ความสมบูรณ์ของป่าหลายผืนและสัตว์ป่าหลายอย่างจึงแลกเปลี่ยนเวียนถึงกันสม่ำเสมอ ยิ่งมีน้ำจืดสมบูรณ์ตลอดปี สัตว์ป่ายิ่งชอบ ไม่ว่าจะสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือสัตว์ปีก
นักวิชาการป่าไม้เคยอธิบายว่าที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงไม่แพ้ที่ใดๆ มีพืชแปลกและสัตว์ป่าหายาก มีสัตว์น้ำ สัตว์ปีก และแมลงสารพันที่หากศึกษาให้ปรุโปร่งจะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่น่าทึ่งที่สุดอีกแห่งของโลก
วิธีเดินทางในอุทยานเขาสกแห่งนี้นับว่าไม่ถึงขนาดถูกตัดขาดเพราะแม้ไม่มีถนน แต่ทะเลสาบยักษ์ช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างเปิดกว้างและไม่กระทบต่อระบบป่ามากเท่าการตัดถนนเปิดทาง พาหนะที่ทางอุทยานอนุญาตให้นำมาใช้มีเฉพาะเรือรับจ้างต่อด้วยไม้ อย่างเรือหางยาว ขนาดบรรทุกราวๆไม่เกิน14คน และเรือวางท้อง ซึ่งน่าจะบรรทุกได้ไม่เกิน 40 คน
ผมว่ากระทรวงพลังงานน่าจะทำโครงการเปลี่ยนเครื่องเรือเป็นไฟฟ้า เสียงเงียบ ประหยัดพลังงานและสามารถลดปัญหาน้ำมันเครื่องและไอเสียได้ไปในตัว จะทำเป็นแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือหรือจะทำสถานีให้เสียบปลั้กชาร์จไฟฟ้าที่ท่าเทียบให้เพียงพอก็น่าสนใจมาก เพราะเขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว
เขื่อนรัชชประภามีสันเขื่อนที่สูงแข็งแรง และแบ่งการกั้นช่องเขากระจายออกไปหลายช่อง ความจุน้ำของอ่างสามารถรับน้ำฝนจากภูเขาได้เกินกว่านี้อีก แต่ถ้าน้ำยิ่งท่วมสูง ป่าบกก็จะลดตามไปอีก
อย่างไรก็ดี ในฤดูมรสุมระดับน้ำที่ริมตลิ่งจะแตกต่างจากหลังฤดูมรสุมได้มากหลายๆสิบเมตร จุดขึ้นลงจากเรือจึงถูกธรรมชาติควบคุมไว้ได้อย่างน่าสนใจ
ซึ่งก็ดีแล้วการเหยียบย่ำจากภายนอกจะได้ถูกควบคุมไม่ให้เกิดเพิ่มไปกว่าที่ควร แต่กระนั้นก็ต้องสามารถทำให้เข้าถึงท่าเรือได้โดยปลอดภัย และเป็นมิตรต่อทุกสภาพร่างกาย
เพราะความงามของป่าติดทะเลสาบยักษ์แห่งนี้ งามจนเกือบจะเรียกว่าบำบัดใจของคนป่วยได้
ที่นี่มีแพที่พักให้บริการตามปริมาณและขอบเขตที่กรมอุทยานฯกำหนด เข้าใจว่ามี12รายที่ให้บริการกันอยู่ มีมาตรฐานด้านการสุขาภิบาลและการจัดการความปลอดภัยให้ทั้งคนและสัตว์ป่าไม่ให้เข้าใกล้หรือรบกวนกัน
อนึ่ง น้ำในเขื่อนนี้ลึกมากนะครับ
หลายจุดลึกกว่า 60 เมตร ฝรั่งบอกว่ามีบางจุดลึก 90 เมตร กลางวันน้ำจะเย็น และกลางคืนจนรุ่งสว่างน้ำจะอุ่นขึ้นเพราะดินที่รับแดดมาทั้งวันจะคายความร้อนคืนกลับออกมา
ผมลองหย่อนตัวลงน้ำทำกิจกรรมนั่งแช่น้ำบ้าง พายคายักบ้าง ยืนพายซับบอรด์บ้าง โดดลงว่ายน้ำต่างช่วงเวลา ก็เห็นจริงอย่างนั้น
แขกที่มาพักและเที่ยวนั่งเรือชมธรรมชาติในเขื่อนนี้มักเป็นกลุ่มยุโรปเป็นหลัก คนจีนยังไม่ค่อยมา ฟังว่าวิวอย่างนี้เมืองจีนเองก็มีคล้ายกัน
คุณเชาวลิต วิชิระประเสริฐ ผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภาเล่าว่า ที่บ้านพักของเขื่อน 200 ห้องมีปรัชญาว่าจะไม่ทำธุรกิจแข่งกับที่พักแรมของชาวบ้านรอบเขื่อน จึงไม่เน้นการลดราคาแย่งลูกค้ากับชาวบ้าน และสาเหตุที่ต้องมีห้องพักจำนวนมากก็เพราะบ่อยครั้งที่ต้องรับการมาของทีมช่างและวิศวกรทั้งด้านระบบไฟฟ้า และชลประทานพร้อมๆกันในการซ่อมบำรุงตามรอบระยะ
ทั้งต้องมาอยู่กันคราวละหลายสัปดาห์ ท่านบอกว่าที่พักของเขื่อนถูกสร้างด้วยเงินงบประมาณหรือเงินกู้เพื่อการพัฒนาพลังงานและการจัดการน้ำจึงไม่ใช่เพื่อจะมาทำธุรกิจแข่งขันกับใคร โดยเฉพาะกับชาวบ้าน
อันนี้ต้องชื่นชมครับ
หน่วยงานรัฐไม่พึงแข่งราคากับภาคประชาชนโดยไม่จำเป็น ควรเก็บพลังและทรัพยากรไว้ช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ประชาชนไม่มีพลังจะทำได้ หรือนำพลังไปอุดหนุนกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆดีกว่า
คุณณัฐนวรรธ ศักดา หรือคุณต้น นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีดำริจะพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อคนทั้งมวล ไม่ว่าจะกลุ่มครอบครัวมีเด็กเล็ก มีผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ใส่เฝือก หรือแม้แต่มีผู้ป่วยติดเตียง คนที่ต้องเดินทางพร้อมสัมภาระหนัก แบกอุปกรณ์กีฬา ก็ให้สามารถเดินทางมาเยี่ยมเยือน พักผ่อนค้างแรมหรือร่วมกิจกรรมทั้งนันทนาการหรือทำธุระได้สะดวก ตามแนวคิด Tourism for All คุณต้นจึงอาสาเดินทางมานำคณะของผมและคุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลออกสำรวจไปตลอด2วันในสุราษฎร์ธานี คุณต้นใช้โอกาสนี้ บันทึกข้อมูลและสิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อเป้าหมายข้างต้นไปด้วยตลอดทริป
ตรงไหนต้องยกต้องอุ้มกันก็ฝึกลูกทีมไปด้วย วงกบห้องน้ำตรงไหนควรขยายก็จดไว้ อะไรขาดก็จัดหามาเติม ส่วนใหญ่สามารถใช้วัสดุท้องถิ่นมาเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกได้ ใช้การลงทุนไม่ต้องแพง แต่ขอเพียงได้ความปลอดภัย
เข้าใจมาตรฐาน
คุณต้นเข้าใจครับว่า ที่พัก โรงแรมร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวใดที่ผู้พิการไปถึงได้อย่างสะดวก สะอาด ปลอดภัย ย่อมแปลว่าที่นั่นน่าจะให้บริการคนทุกกลุ่มได้สบาย
ขอเพียงเอาใจใส่ คิดถึงรายละเอียด ปรับแก้ไขนั่นนี่ไปเรื่อยๆก็จะได้เอกลักษณ์และมีความยั่งยืนเอง
ตลาดกลุ่มสูงวัยของโลกที่มีกำลังจับจ่ายมีอยู่เกิน 600 ล้านคน ตลาดผู้พิการที่เคยทำงานเก็บออมมาทั้งชีวิตและ หรือผู้มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพราะบาดเจ็บ พักฟื้นร่างกาย ก็มีปริมาณไล่ๆกันจากทั่วโลก
คนเหล่านี้ไม่เรียกร้องหาบาร์เบียร์ที่จะเปิดยันสว่าง ไม่หาของเมามาสูบมาดื่ม ไม่ซ่าบ้าเลือดส่งเสียงกวนใคร เป็นกลุ่มค้นหารางวัลให้ชีวิตแบบถนอมธรรมชาติ ถนอมสุขภาพเสมอ
ทริปนี้ของผมจึงอุดมไปด้วยการค้นพบอีกความงามทางธรรมชาติ ความละเอียดอ่อนของระบบนิเวศน์ ความอ่อนไหวต่อการเดินทางสำหรับมนุษย์ล้อ ความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายกับหน่วยและทีมต่างๆในพื้นที่อย่างน่าสนใจมาเล่าบอกต่อ
การท่องเที่ยวของโลกกำลังฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว
เราจึงควรต้อง Rethinking(คิดทบทวนใหม่) Rebalancing (สร้างดุลยภาพใหม่)และ Rebranding (ปรับภาพจำใหม่ๆ)ให้การท่องเที่ยวของเราให้ดี มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อทุกองค์ประกอบ และเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย
ใช้กระแสความตื่นตัวเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ใช้กระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และใช้slow traveling ที่ซึมซาบรับรู้เสน่ห์ของรายละเอียดที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมของเราให้เข้าถึงได้อย่างสนุก และสร้างสรรค์มากๆครับ
บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา