xs
xsm
sm
md
lg

การวางตำแหน่ง ESG กับ โอกาสทางธุรกิจ / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาด ทุกสาขา

ที่น่าสนใจ คือ ผลกระทบที่ว่านี้ มิได้เข้ามาทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพียงทางเดียว แต่กลับเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ดังกล่าวไม่มากก็น้อย

จากการสำรวจของ เคพีเอ็มจี กับบุคลากรในฝ่ายบริหารที่ดูแลรับผิดชอบรายงานทางการเงินจำนวน 246 คน ซึ่ง 31% อยู่ในองค์กรซึ่งมียอดรายรับต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี และอีก 23% เป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีระหว่าง 1 – 4.9 พันล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีมากกว่า 5 พันล้านเหรียญ พบว่า 83% เชื่อว่า องค์กรที่มุ่งเน้นเรื่อง ESG จะช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น ขณะที่ 11% ยังมีความไม่แน่ใจ และอีก 6% ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

เมื่อสอบถามถึงระดับของการผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ 41% ตอบว่า องค์กรได้มีการผูกโยง ESG ไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจอย่างชัดเจน ขณะที่ 27% ยังมีความไม่แน่ใจ ส่วนอีก 25% บอกว่าการดำเนินงาน ESG มิได้เกี่ยวโยงกับกลยุทธ์ธุรกิจ และอีก 7% ระบุว่า กลยุทธ์ขององค์กรพัฒนาขึ้นจากการคำนึงถึง ESG

ผลสำรวจนี้ สอดคล้องกับการวิจัยของศูนย์สเติร์นว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอภิพันธุ์กับงานวิจัยมากกว่า 1,000 ชิ้น ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2015-2020 ต่อผลกระทบของการลงทุน ESG ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงิน แล้วพบว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG ช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานทางการเงินของกิจการในหลายสาขา และยังช่วยสร้างเกราะป้องกันให้แก่กิจการในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นด้วย

เมื่อสอบถามถึงสถานะปัจจุบันของการรายงาน ESG พบว่า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดย 30% บอกว่า องค์กรได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานและได้จัดทำรายงานอย่างน้อยหนึ่งฉบับที่เกี่ยวข้องกับ ESG ขณะที่ 28% ระบุว่า ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG และอีก 15% ตอบว่าได้เคยมีการรายงานและกำลังอยู่ระหว่างการประเมินกลยุทธ์การรายงานใหม่ ส่วนอีก 13% บอกว่ายังมิได้เริ่มพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG อีก 8% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 6% แจ้งว่าได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานแต่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานออกมาแต่อย่างใด

ต่อข้อคำถามที่ถามว่า หน่วยงานหรือฝ่ายใดในองค์กรที่มีความมุ่งเน้นและเป็นผู้ให้ข้อมูลมากสุดต่อการจัดทำกลยุทธ์การรายงาน ESG โดย 23% ระบุว่าเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ขณะที่ 21% บอกว่าเป็นคณะกรรมการบริษัท/ตรวจสอบ อีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ ส่วนอีก 13% เป็นฝ่ายสื่อสาร/นักลงทุนสัมพันธ์ 10% เป็นฝ่ายการเงิน 6% เป็นฝ่ายความเสี่ยง และอีกอย่างละ 3% เป็นฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายตรวจสอบภายใน

ต่อข้อคำถามถึงความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อต้องมุ่งเน้นเรื่อง ESG อย่างจริงจัง (ตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ) ผลสำรวจพบว่า 57% เป็นเรื่องของขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญของทรัพยากรที่องค์กรมี ขณะที่ 48% เป็นเรื่องส่วนขยายของการรายงานและกรอบที่องค์กรต้องปฏิบัติตาม 46% เป็นเรื่องความอุตสาหะในการสร้างกระบวนการรายงานที่มีประสิทธิผล 41% เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนในกฎระเบียบ 31% เป็นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงมือดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล 18% เป็นเรื่องของการขาดกลยุทธ์การดำเนินงาน 11% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ อีก 8.1% บอกว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการมิได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอีก 3.7% มองว่าไม่ใช่ความท้าทาย ณ ปัจจุบัน


เมื่อถามว่า องค์กรมีมุมมองอย่างไรต่อการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก (External Assurance) ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความโปร่งใส ความแม่นยำ และความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ ที่มีต่อการรายงานของกิจการ

42% ตอบว่า มีความสำคัญ แต่องค์กรยังมิได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ขณะที่ 24% ระบุว่า มีความสำคัญ และได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ส่วนอีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 13% ระบุว่า ยังไม่มีความสำคัญ

อนึ่ง ผลสำรวจที่ เคพีเอ็มจี จัดทำขึ้นในครั้งนี้ มาจากการสอบถามองค์กรที่เป็นสถาบันการเงินมากสุดในสัดส่วน 26% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีก 17% กลุ่มการผลิตอุตสาหกรรม 12% กลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี อย่างละ 9% กลุ่มสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ 8% กลุ่มสื่อและบันเทิง 3% องค์กรภาครัฐ 1% และอื่นๆ อีก 15%

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์
ประธานสถาบันไทยพัฒน์



กำลังโหลดความคิดเห็น