นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานราชการนำร่องที่นำกระดาษใช้งานแล้วมารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการ “80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม” ซึ่งดำเนินการร่วมกับ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ในโอกาสวาระครบรอบ 80 ปีของการก่อตั้ง
โดยมีหน่วยงานในสังกัดทั้ง 7 กรมเข้าร่วมด้วยการรวบรวมคัดแยกเศษกระดาษกลับมาใช้งานใหม่เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และรีไซเคิลเพื่อมอบแก่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล(Bio-Circular-Green Economy)หลังจากเปิดตัวโครงการ กระทรวงฯ ได้ตั้งกล่องรับเศษกระดาษขนาดใหญ่ที่ด้านล่างอาคาร และขนาดเล็กของทุกหน่วยงานภายในและมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องการแยกกระดาษเพื่อประโยชน์สูงสุด เมื่อรับเศษกระดาษเต็มแล้ว SCGP จะส่งรถมาจัดเก็บประมาณเดือนละ 2 ครั้งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ กระดาษขาวดำ กระดาษกล่อง และกระดาษรวม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. – 31 ส.ค. 65 เป็นเวลา 6 เดือน สามารถรวมกระดาษใช้งานแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 11,596 กิโลกรัม เกินกว่าเป้าหมาย 8,000 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 145
“โครงการดังกล่าวก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวม 25,228 บาท ได้กระดาษ 194 รีม ผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิลกระดาษ 1 ชุด ได้สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน 7 หน่วยงาน ทางด้านสังคมได้สร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิด BCG ให้บุคลากร จำนวน 324 คนจากองค์กร 133 แห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้รีไซเคิลผลิตภัณฑ์เพื่อมอบสู่สังคม ประกอบด้วย มูลนิธิ องค์กรการกุศล และโรงเรียน รวม 8 แห่ง ทางด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ลดการตัดต้นไม้ 197 ต้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 7,885 กิโลกรัม ลดการใช้น้ำ 301,496 ลิตร ลดการใช้เชื้อเพลิง 16,234 ลิตร และลดการใช้พลังงาน 46,384 กิโลวัตต์ รวมทั้งเป็นการรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต” นายกอบชัยกล่าว
กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคในปี พ.ศ. 2566 ในรูปแบบการแลกกระดาษ Old for New เฉพาะจังหวัดที่มีโรงงาน SCGP ก่อน อาจจะนำร่อง 6-8 จังหวัดตามความพร้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางประเมินตัวชี้วัดที่ 4.2 เรื่อง การลดใช้กระดาษของ สำนักงาน กพร. และเป็นการมุ่งสู่ระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) โดยกระดาษทั้งหมดที่เข้าโครงการฯจะถูกนำเข้ากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษรีมใหม่ กล่อง และชุดเฟอร์นิเจอร์กระดาษ เป็นต้น
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวเพิ่มเติมว่า “SCGP ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบแนวคิด ESG 4 Plus ของบริษัท ได้แก่ “1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส” ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการจัดการกระดาษรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และ SCGP พร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนในการขยายผลการจัดการกระดาษรีไซเคิลผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประสานพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”