สองวันก่อน (27 ก.ย.2565) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้กำชับอีกครั้งเรื่องการสนับสนุนภาคครัวเรือนติดตั้งโซลาร์รูฟทอป
ทั้งนี้เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยรัฐบาลเองมีแนวทางที่จะให้ทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เพื่อใช้งานเองได้ในครัวเรือน และหากพลังงานเหลือใช้ในเวลากลางวันสามารถส่งกลับไฟฟ้าเข้าไปในระบบเพื่อจะนำหน่วยไฟฟ้าไปหักกลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนใช้หรือต้องซื้อจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน
โดยให้การไฟฟ้าทำการหักลบกลบหน่วยในเดือนถัดไป เป็นนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าขึ้นมาใช้เองในครัวเรือนซึ่งจะแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งในงานติดตั้งและงานให้บริการ รวมถึงเป็นการลดสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสั่งการให้ กฟภ. กฟน. และกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาดำเนินการ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้เป็นไปตามข้อสั่งการนี้
จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีหน่วยงานหลัก ด้านพลังงานรองรับเพื่อนำไปหาแนวทางดำเนินการให้เป็นรูปธรรมซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ว่าแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน รวมถึงแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ฉบับใหม่ ของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
อย่างที่ทราบกันดีว่า “พลังงานแสงอาทิตย์” เป็นพลังงานทางเลือกที่คุ้มค่า ทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะช่วยลดโลกร้อน ปัจจุบันเจ้าของบ้านจำนวนมากให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ “ค่าไฟฟ้า” แต่ละเดือนแพงขึ้นอีก ความคุ้มค่าในการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จึงเป็นปัจจัยแรกที่ต้องพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเจ้าของบ้านจำเป็นต้องทราบพฤติกรรมของคนในบ้านทุกคน ว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละวันเป็นอย่างไร แล้วรู้จักระบบโซลาร์เซลล์แค่ไหน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเราควรเลือกระบบไหนถึงเหมาะกับบ้าน
ข้อมูลต่อไปนี้ จึงเป็นเสมือนเช็คลิสต์ให้ตรวจเช็คได้ด้วยตนเองว่า บ้านของเราเหมาะสมกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หรือไม่
รู้จักระบบ Solar Cell แล้วเลือกให้เหมาะกับบ้าน
เจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจผิดว่า บ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเหมาะกับบ้านที่ห่างไกลความเจริญและต้องใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เท่านั้น ความเป็นจริงแล้วโซลาร์เซลล์ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ได้กับทุก ๆ พื้นที่ ทั้งในเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไกลความเจริญ กรณีนำมาใช้ร่วมกับบ้าน ปัจจุบันมีให้เลือก 3 ระบบหลักด้วยกันครับ
ระบบออฟกริด (Off Grid) เหมาะกับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สวน ไร่ฟาร์ม หรือที่ดินตาบอดที่ไม่มีเสาไฟฟ้าผ่านหน้าบ้าน ซึ่งหากลงทุนเดินเสาไฟฟ้าเองจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ระบบ Off Grid มุ่งเน้นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันจะดึงกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์โดยตรง และมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าใช้ในยามค่ำคืน
ระบบออนกริด (On Grid) เป็นระบบที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะมุ่งเน้นการใช้งานร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หากกระแสไฟฟ้าเหลือเกิน จะถูกแบ่งขายคืนให้กับการไฟฟ้า และหากผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้น้อย จะใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแทน ข้อดีของแบบออนกริด นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้วยังได้กำไรจากการขายกระแสไฟให้ภาครัฐอีกด้วย
ระบบ Hybrid Grid เป็นระบบที่ผสมผสานระหว่าง Off Grid และ On Grid เข้าด้วยกัน โดยจะมีความใกล้เคียงกับระบบออนกริด โดยมีจุดแตกต่าง คือ ระบบไฮบริดมีแบตเตอรี่สำรองไว้สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ จึงมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสามารถนำมาใช้ในยามค่ำคืนหรือช่วงเวลากระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับได้ แต่ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟให้กับภาครัฐได้ และเนื่องจากในตอนนี้ระบบแบตเตอรี่ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนานมาก หรืออาจไม่คืนทุนเลย จึงยังไม่แนะนำให้ติดตั้งในตอนนี้ครับ
บ้านที่เหมาะกับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์
1. บ้านที่มีหลังคาลาดเอียงทางทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกและทิศใต้สูงสุดในแต่ละวันเป็นระยะเวลา 8-9 เดือนโดยประมาณ หากมีพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ฝั่งดังกล่าวจะคุ้มค่ากว่าทิศอื่น ๆ
2. บ้านที่มีพื้นที่ว่างสำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์
โดยปกติแล้วก่อนติดตั้ง เจ้าของบ้านควรทราบความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้ารวม เพื่อประเมินได้ว่าควรต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีสเปคเท่าไหร่ ตัวอย่างแผงโซลาร์เซลล์ของ SCG หากใช้กับบ้านทั่วไปที่มีหลอดไฟ 20 ดวง ทีวี 2 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง (ขนาด 9000 BTU) และตู้เย็น 1 เครื่อง จะต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ 5 แผง ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 10-14 ตร.ม.
3. บ้านที่ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากหรือสำนักงาน
พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ สามารถผลิตได้ช่วงกลางวัน หากการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารสถานที่ มุ่งเน้นการใช้งานกลางวันก็จะช่วยส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเก็บสำรองในแบตเตอรี่ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ จึงคุ้มค่ามากและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสำนักงาน, Home Office, คาเฟ่, ร้านอาหาร ที่โดยปกติจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้สำนักงานจำนวนมาก หรือบ้านไหนมีผู้สูงอายุ มีเด็ก ที่ปกติต้องอยู่บ้านทั้งวันและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็เหมาะสมเช่นกันครับ
4. บ้านที่กระแสไฟตกบ่อย
แม้ปัจจุบันในประเทศไทย ไฟฟ้าได้เข้าถึงเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่ากระแสไฟฟ้าจะเสถียรทั้งหมด แม้แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ ที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมักเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟตกบ่อยครั้ง การมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เองด้วยแผงโซลาร์เซลล์ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยประกันความเสี่ยงในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
5. บ้านสวนสนามกว้างสายไฟไปไม่ถึง
โซลาร์เซลล์ไม่ได้มีเฉพาะแบบแผงสี่เหลี่ยมที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาเท่านั้น ยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้งาน อาทิ ไฟตกแต่งสวนโคมไฟโซลาร์เซลล์แบบฝังพื้น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แบบปักสนาม ที่สะดวกสำหรับบ้านสนามหญ้ากว้าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องเดินระบบสายไฟออกไกลนอกบ้าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดอันตรายจากการต่อสายไฟออกมากลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
ข้อสังเกต บ้านที่ไม่เหมาะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพราะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น คือ บ้านที่มีอาคารสูงบังทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก บ้านที่มีพื้นที่หลังคาน้อยหรือโครงสร้างหลังคาไม่รองรับ หรือบ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมีค่าไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน หากติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ข้อมูลอ้างอิง https://www.scgbuildingmaterials.com/th/ideas/home-story/bwh-which-home-should-have-solar-cell