สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุนตั้งแต่ระดับฐานรากและในทุกช่วงวงจรธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กล่าวว่า ในปัจจุบัน สสว.มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อส่งเสริม SME แบบมุ่งเป้า จึงได้จัดทำโครงการในรูปแบบใหม่ขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS พร้อมทั้ง ได้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ไปในระยะหนึ่งแล้ว ภายใต้แคมเปญ “SME ปัง ตังได้คืน” ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ SME สามารถขอรับการพัฒนายกระดับได้ตามความต้องการของ SME โดยสามารถเข้าถึงการขอรับการช่วยเหลือได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน platform online และสามารถเลือกหน่วยงานที่มีความสามารถและน่าเชื่อถือที่มีอยู่ในระบบ BDS หน่วยงานใดก็ได้ ตามที่ SME เชื่อมั่น นอกจากนี้ ยังมีการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ SME ในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดต้นทุน สร้างโอกาสทางการค้า เพิ่มองค์ความรู้ ฯลฯ
ในปี 2565 สสว.ได้เริ่มทดลองใช้ระบบ BDS แม้ว่าในระยะแรกจะมี SME สนใจเข้าร่วมน้อย แต่ภายหลังจากที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจบนระบบ BDS รวมถึงประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ขณะนี้ มี SME สมัครใช้งานบนระบบแล้วกว่า 2,000 ราย และได้อนุมัติข้อเสนอการพัฒนาไปแล้วกว่า 300 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนจำนวนกว่า 15 ล้านบาท ปัจจุบัน สสว. ได้มีการขยายระยะเวลาโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนาได้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2566
มาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณทั้งสิ้น 400 ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 6,000 ราย โดยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SME แบบร่วมจ่าย (co-payment) ผ่านระบบ BDS ในสัดส่วน 50–80% ตามขนาดของธุรกิจ แต่ไม่เกินรายละ 200,000 บาทตามขนาดของธุรกิจ ดังนี้
๐ วิสาหกิจรายย่อย (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี
๐ วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ปี
๐ วิสาหกิจขนาดย่อม (SE+) ภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี
หมวดบริการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจ เช่น การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอมาตรฐาน ใบอนุญาต การตรวจวิเคราะห์ ประเมินการสอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความนิยม การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบ Online ผ่าน Platform ต่างๆ ไม่รวมการฝึกอบรม การสร้างการรับรู้แบรนด์ การส่งเสริมให้มีคู่ค้าในต่างประเทศหรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายกับธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น
ขั้นตอนการสมัครง่ายๆ ดังนี้
1.สมัครสมาชิกและยืนยันตัวตน: SMEs สมัครสมาชิก และยืนยันตัวตนบนแพลตฟอร์ม BDS โดยแนบเอกสารครบถ้วน
2.รอการพิจราณา: เมื่อ สสว. ได้รับเอกสารผ่านแพลตฟอร์ม BDS ครบถ้วนแล้ว สสว. จะพิจารณาและแจ้งผลอนุมัติยืนยันตัวตน
3.ยื่นข้อเสนอ: SMEs ยื่นข้อเสนอการพัฒนาเพื่อขอรับเงินอุดหนุน
4.อนุมัติและทำสัญญา: เมื่อ สสว. พิจารณาข้อเสนอการพัฒนาของ SMEs แล้วจะแจ้งผลอนุมัติการทำสัญญา
5.ชำระค่าบริการ: เมื่อพัฒนาเสร็จสิ้น SMEs จะต้องชำระค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการทางธุรกิจให้ครบถ้วนทั้งหมด
6.ตังได้คืน: เมื่อ สสว. ตรวจสอบเอกสารแล้วจะโอนเงินคืนให้ SMEs นับจากที่เอกสารครบถ้วน ตามสัดส่วนการสนับสนุน
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่มอบให้ผู้ประกอบการ SME เป็นพิเศษ ในขณะนี้ได้ร่วมกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งในการผลักดันตราสัญลักษณ์ Thai SME Sure ซึ่ง SME ที่ได้ตรานี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในการลดระยะเวลาเครดิตเทอมเหลือเพียง 30 วันเท่านั้น ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ SME เป็นอย่างมาก พร้อมทั้ง ได้ร่วมกับห้างค้าปลีกติดตราสัญลักษณ์ดังกล่าวที่ชั้นวางจำหน่ายสินค้าของ SME ที่ได้รับการรับรอง ครอบคลุมทั้ง SME รายใหม่และรายเดิมที่วางขายสินค้าในห้างค้าปลีกอยู่แล้ว เพื่อจูงใจและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ทันทีว่าได้อุดหนุนสินค้าของเอสสเอ็มอีไทย
เนื่องจาก สสว.มีนโยบายสำคัญในปี 2565 คือเร่งดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขยายโอกาสทางการตลาด เพื่อช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อได้ รวมถึงสร้าง SME รายใหม่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และสนับสนุนการพัฒนาสินค้า SME ให้ได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้บริโภค สสว.จึงเร่งขับเคลื่อนตราสัญลักษณ์ Thai SME Sure โดยร่วมกับพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ
นอกจากนี้ สสว.ยังปรับแนวทางการส่งเสริม SME โดยกำหนดเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ขยายขอบเขตการช่วยเหลือ SME ภายใต้ BDS จากเดิมจำกัดอยู่ที่กลุ่ม SE เท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงกลุ่ม ME และ2. ขยายการจัดทำสิทธิประโยชน์ให้กับ SME จากเดิมมีเพียงภาคเอกชน แต่ในปี 2566 จะดำเนินการเพิ่มเติมกับภาครัฐ เพื่อเร่งผลักดันและเสริมความแข็งแรงให้ SME สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้เท่าทันสถานการณ์
นอกจากการส่งเสริมให้ SME มีการเติบโตและสามารถอยู่รอดได้ในธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขัน สสว.ยังได้กระตุ้นให้ SME ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีโครงการในลักษณะนี้อยู่แล้วภายใต้ชื่อโครงการ SME National Awards ซึ่งนอกจากจะเป็นการมุ่งยกระดับ SME ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมไปกับการเน้นให้สินค้าและบริการของ SME ที่ได้รับรางวัลได้รับความเชื่อถือในระดับสากลเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า สิ่งหนึ่งคือการยกระดับธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล รวมไปถึงการผลักดันให้ธุรกิจดำเนินต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน