กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับพันธมิตรดั้งเดิม แทรชลัคกี้ และ อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศสนับสนุนแคมเปญ “ ‘โค้ก’ ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky” เป็นปีที่ 2 ส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุรีไซเคิลที่มีค่า เช่น ขวดพลาสติก PET และกระป๋อง โดยมีจุดรับรีไซเคิลทั่วกรุงเทพฯ และผู้ร่วมกิจกรรมมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลรายเดือน มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท
กิจกรรมปีนี้มีพันธมิตรร่วมแคมเปญเพิ่มขึ้น คือ “โลตัส” และ “บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด” ที่จะเข้ามาเพิ่มจุดรับวัสดุรีไซเคิลให้มากขึ้น โดยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมดในแคมเปญจะถูกส่งต่อไปให้ “อินโดรามา เวนเจอร์ส” พันธมิตรดั้งเดิมของแคมเปญที่จะรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ถือเป็นเป้าหมายหลักของแคมเปญในการขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และจูงใจผู้บริโภคให้นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยเริ่มจากการรีไซเคิล
แคมเปญ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ในปีนี้เพิ่มจุดรับวัสดุรีไซเคิล ณ โลตัส และสถานีบริการน้ำมันเชลล์ สาขาที่กำหนด ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงจุดรับวัสดุรีไซเคิลของแทรชลัคกี้ ในส่วนอินโดรามา เวนเจอร์ส พันธมิตรดั้งเดิมของแคมเปญ จะช่วยเปลี่ยนขวดพลาสติก PET ที่เก็บรวบรวมเป็นเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) ตอบรับการที่ประเทศไทยเพิ่งออกกฎหมายอนุญาตให้สามารถนำเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) มาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้ กฎหมายฉบับใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ "BCG Model" ของประเทศไทย หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคคา-โคล่า” มุ่งจัดเก็บและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในปริมาณเทียบเท่ากับที่ใช้ให้ได้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 โดยโครงการ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปี 2 เป็นแคมเปญล่าสุดที่ร่วมกับพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุที่รีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป โดยเพิ่มความสนุกด้วยสิทธิ์ร่วมลุ้นรับของรางวัล ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
แคมเปญฯ ในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากแทรชลัคกี้ , โลตัส และสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการรีไซเคิลเช่นเดียวกัน โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ปัญหาขยะไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน และพันธมิตรทุกคนในโครงการนี้ก็ยินดีต้อนรับทุกองค์กรที่สนใจร่วมผลักดันการรีไซเคิลให้ขยายวงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิลเพิ่มเติม
“เราทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าจะองค์กรใด ในธุรกิจใดก็แล้วแต่ ขอเพียงเรามีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว เราก็ยินดีต้อนรับเป็นพันธมิตรเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยขอความกรุณาแจ้งความจำนงไปที่ แทรชลัคกี้ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเราในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มจุดรับวัสดุรีไซเคิลใหม่ๆ ให้เชื่อมโยงกับเครือข่ายปัจจุบันโดยเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการด้านการขนส่งและรวบรวม ตลอดจนสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคที่สนใจเข้าร่วมส่งวัสดุรีไซเคิลอีกด้วย”
นายณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด กล่าวว่า แคมเปญนี้ในปีที่แล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค แม้ว่าแคมเปญจะมีระยะเพียง 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด 19 โดยได้รับขวดพลาสติกกว่า 3,500 กิโลกรัม หากคิดเป็นขวดพลาสติก PET ขนาด 600 มิลลิลิตร นับเป็นจำนวนกว่า 157,500 ขวด โดยปีนี้แทรชลัคกี้ยังคงเป็นพันธมิตรหลักที่ให้บริการทั้งด้านโซลูชั่นการรีไซเคิลและเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณชนให้เข้าใจว่าอะไรรีไซเคิลได้ และมีวิธีการอย่างไร และยังคงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลุ้นรับรางวัล ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ Trash Lucky ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนรีไซเคิล เพื่อลดขยะในหลุมฝังกลบและในมหาสมุทร
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากแคมเปญปีที่แล้วคือ นอกจากรางวัลจูงใจ ความสะดวกในการรีไซเคิลก็สำคัญ เราจะยังคงวัดผลและสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจและทัศนคติการรีไซเคิล เพื่อปรับปรุงการทำงานที่จะทำให้เกิดไลฟ์สไตล์การรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน”
นางสาวนวีนสุดา กระบวนรัตน์ หัวหน้าฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภารกิจหลักของบริษัทฯ คือการมอบชีวิตใหม่ให้กับพลาสติก PET ที่ใช้แล้วโดยการเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล ซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จในการนำขวดพลาสติก PET ที่รวบรวมได้ ไปผลิตเป็นชุด PPE คุณภาพสูง และนำไปมอบแก่สำนักงานสาธารณสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับปีนี้ เข้าร่วมเพื่อตอบรับกับกฎหมายอนุญาตให้ใช้ขวดพลาสติก PET ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยระหว่างนี้ บริษัทฯ กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อให้สอดคล้องกับรายละเอียดข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข
“ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงเพื่อสร้างความเข้าใจในนวัตกรรมการรีไซเคิล หรือการผลิต PET รีไซเคิลที่ถูกสุขอนามัยสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุรีไซเคิลได้จากขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งนับเป็นก้าวสําคัญในการสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีการผลิตพลาสติก PET รีไซเคิลที่มีคุณภาพ”
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โลตัสมีเป้าหมายในการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ และขยะประเภทต่างๆ ภายในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสร้างพฤติกรรมแยกขยะและเข้าถึงจุดรีไซเคิลได้อย่างสะดวกผ่านสาขาที่เป็นศูนย์กลางชุมชน เบื้องต้นจะจัดตั้งจุดรีไซเคิลที่โลตัส 6 สาขา ได้แก่ ลาดพร้าว, วังหิน, มีนบุรี, ลาดกระบัง, บางกะปิ และ พระราม 2 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
นายเรืองศักดิ์ ศรีธนวิบุญชัย กรรมการบริหารธุรกิจโมบิลิตี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ Powering Progress เป็นการเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานในการดำเนินธุรกิจให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในพ.ศ. 2593 ซึ่งการจัดการเรื่องขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในสี่ของกลยุทธ์ที่สำคัญดังกล่าว เชลล์มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดการกับขยะพลาสติก ด้วยความตระหนักดีว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการแก้ไขปัญหานี้
“เชลล์วางแผนจัดการกับความท้าทายนี้อย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากกระบวนการผลิต การปฏิบัติงานภายใน ตลอดจนช่วยลูกค้าเชลล์ลดขยะพลาสติกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์น้ำมันเครื่องเชลล์ ซึ่งเป็นแบบรีไซเคิล รวมถึงที่ร้านเดลี่คาเฟ่ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ และใช้หลอดกระดาษแทน เชลล์มีเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และเพิ่มความอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่เข้าร่วมแคมเปญ ด้วยการเป็นจุดตั้งรับขยะรีไซเคิลสำหรับโครงการดังกล่าวฯ ในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้ง 15 สาขาทั่วกรุงเทพ”
แคมเปญ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky เป็นแคมเปญที่มีระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 จัดขึ้นโดย แทรชลัคกี้ และสนับสนุนเงินรางวัลโดย “โคคา-โคล่า” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสมัครผ่าน Line official account: @trashlucky โดยจะได้รับรหัสสมาชิกภายหลังการสมัคร ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถแยกวัสดุรีไซเคิล เช่น พลาสติก อะลูมิเนียม แก้ว และกระดาษ บรรจุใส่ถุงหรือกล่องโดยติดชื่อ หรือ รหัสสมาชิก และสามารถส่งขยะรีไซเคิลได้ 3 วิธี วิธีแรกคือ นำไปส่งที่จุดรับขยะที่เข้าร่วมแคมเปญ เช่น แทรชลัคกี้ ดินแดง หรือ ซอยสาธุ 49 โลตัส 6 สาขาลาดพร้าว วังหิน มีนบุรี ลาดกระบัง บางกะปิ พระราม2 และสถานีให้บริการน้ำมันเชลล์ทั้ง 15 สาขา วิธีที่สองคือ ส่งวัสดุรีไซเคิลผ่านบริการขนส่งพัสดุมาที่บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด วิธีที่สามคือ เรียกใช้บริการเก็บวัสดุรีไซเคิลของ แทรชลัคกี้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับสิทธิลุ้นรางวัลตามปริมาณและประเภทของวัสดุที่ได้ส่งมารีไซเคิล
โดยปีนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ลุ้นรางวัลถึง 3 ต่อ มูลค่าของรางวัลรวม 2 ล้านบาท ซึ่งจะถูกแจกตลอดระยะเวลา 6 เดือน รางวัลต่อที่หนึ่ง บุคคลที่ส่งวัสดุรีไซเคิลในแคมเปญระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึง มีนาคม 2566 จะได้รับสิทธิ์ลุ้นรางวัล ประจำเดือนของเดือนนั้นๆ มีของรางวัลได้แก่ โทรศัพท์มือถือไอโฟน ทองคำ และ บัตรกำนัลช็อปปิ้ง รางวัลต่อที่สอง สิทธิ์ลุ้น รางวัลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 จะถูกนำไปลุ้นรางวัลทองคำแท่ง 5 บาท ในเดือนมกราคม 2566 โดยอัตโนมัติ รางวัลต่อที่สาม สิทธิ์ลุ้นรางวัลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 จะถูกนำไปลุ้นรางวัลทองคำแท่ง 20 บาท ในเดือนเมษายน 2566 โดยอัตโนมัติ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ https://trashlucky.com/recyclemeบริษัท หรือ หน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมแคมเปญ และร่วมตั้งถังเป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ สามารถติดต่อ แทรชลัคกี้ ได้ที่ support@trashluck.com