นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษา รุ่นที่ 1 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีการศึกษา 2566” โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับนักเรียน นักศึกษาระบบทวิภาคีเข้าฝึกอาชีพเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรในการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้มีความรู้ มีทักษะ เพื่อพัฒนาศักยภาพ และประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพในอนาคต
“บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มาพร้อมกับทางเลือกการบริการที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจทุกรูปแบบ โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่รับรองด้วยผลงานการให้บริการบริหารงานกว่า 200 โครงการ ทั้งคอนโดมิเนียม ที่พักอาศัยแนวราบ ศูนย์การค้า รวมถึงอาคารเชิงพาณิชย์ ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเยาวชน เพื่อต่อยอดทางวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา“ นางสาวสมศรีกล่าว
สำหรับโครงการความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีระหว่างสถาบันศึกษากับสถานประกอบการนั้น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้เรียนในระบบทวิภาคี (ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ภาคเรียน) มีสภาพเป็นนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษาที่สังกัดอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นพนักงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการได้ฝึกปฏิบัติงานจริงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความชำนาญในการปฏิบัติงาน และมีประสบการณ์จริงในวิชาชีพ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงประโยชน์ที่นักเรียนและนักศึกษาจะได้รับจากโครงการนี้คือ “ประสบการณ์วิชาชีพที่ตรงสายการเรียน เกิดการพัฒนาตนเองสร้างให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น สร้างทักษะการสื่อสารด้านรายงานข้อมูล สามารถเลือกงานได้ตรงตามที่ตนเองมีความถนัด นอกจากนี้ยังได้รับค่าตอบแทนในขณะที่ศึกษาอยู่และที่สำคัญคือช่วยเพิ่มศักยภาพและความพร้อมที่สูงขึ้นให้กับตัวนักศึกษาเอง ส่งผลให้มีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนจบการศึกษา”
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์กับสถานประกอบการ อีกทั้งยังช่วยให้ได้ข้อมูลย้อนกลับมาเพื่อปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และที่สำคัญคือการช่วยยกระดับให้กับสถานศึกษาและตัวนักเรียน นักศึกษาให้ได้เป็นที่ยอมรับจากสถานประกอบการนั้นๆ
นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาให้กับสถานประกอบการ ในแง่ของการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามสมรรถนะที่ต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาคีเครือข่ายด้านกำลังคน เสริมความรู้ด้านการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมให้กับทุกภาคส่วน เป็นการวางแผนด้านทรัพยากรบุคคลในอนาคต สถานประกอบการได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการขององค์กร อีกทั้งยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตอบสนองตามความต้องการและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมอาเซียน