xs
xsm
sm
md
lg

ไปรษณีย์ไทย - ดีจีเอ เปิดบริการยืนยันตัวตนแอปฯ “ทางรัฐ” ฟรี! ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พัฒนาช่องทางการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการช่วยอำนวยความสะดวก และตอบโจทย์คนไทยให้เข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่ายและรวดเร็ว โดยสามารถแสดงบัตรประชาชนพร้อมยืนยันตัวตนก่อนใช้งานได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมการให้บริการทั้งในด้านการสื่อสารและขนส่ง เพื่อปรับรูปแบบการให้บริการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่เข้าสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Know You Customer : KYC) แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพียงแสดงบัตรประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ณ เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ โดยข้อมูลจากบัตรประชาชนจะเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของ DGAผ่านเครื่องอ่านบัตรประชาชน เมื่อลูกค้ายืนยันตัวตนสำเร็จจะได้รับ SMS ยืนยันทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายหน่วยงานผ่านเครือข่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวว่า แอปพลิเคชัน“ทางรัฐ” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐ โดยรวบรวมบริการจากภาครัฐกว่า 68 บริการที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย อาทิ วัยแรกเกิด ให้ผู้ปกครองสามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด วัยเรียน สามารถเข้าตรวจสอบผลคะแนน O-Net จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติวัยทำงาน ให้บริการตรวจสอบเครดิตบูโร สิทธิประกันสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนถึงการตรวจสอบและเช็กยอดเงินสมทบชราภาพของวัยเกษียณ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้บริการ อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ของตนเองที่จัดเก็บโดยหน่วยงานภาครัฐ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานก่อนการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูล และบริการในแต่ละเรื่องมั่นใจได้ว่า ผู้ที่ขอเข้าถึงข้อมูลและขอใช้บริการเป็นบุคคลเดียวกันจริง และป้องกันการเข้าถึงข้อมูล หรือถูกแอบอ้างชื่อไปขอรับบริการโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง