ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกองทุนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เผยเบื้องหลัง สร้าง-ต่อยอด “หลักสูตรชลกร” จากศาสตร์พระราชา ให้เป็นต้นแบบปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน
ปัจจุบัน “หลักสูตรชลกร” ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยบรรจุเข้าสู่หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส.) โดยมีพื้นฐานจากหลักสูตรช่างกลเกษตร แล้วต่อยอด 6 วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
ในปีการศึกษา 2565 ทำการเปิดสอนเป็นรุ่นที่ 2 ใน 12 วิทยาลัยฯ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ยโสธร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, อุดรธานี, ชัยภูมิ, สระแก้ว และสุโขทัย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียนสมัครเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับปีการศึกษาที่ผ่านมา
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เล่าถึงที่มา “หลักสูตรชลกร” องค์ความรู้ เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่สานต่อศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ตนเองได้ซึมซับจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
ตลอดการทำงาน 40 กว่าปี โดยเฉพาะสมัยที่เป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีโอกาสถวายงานโดยตรง ขณะนั้น สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนป.) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนใช้ชื่อว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานโดยใช้ข้อมูลน้ำและการเกษตรจากที่นี่
พระองค์รับสั่งอยู่เสมอถึงการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ว่าต้องมีที่ให้น้ำอยู่ ดังนั้นการขุดบ่อด้วยความรู้ถึงจะทำให้การขุดบ่อมีประสิทธิภาพ เมื่อมีที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล พอฝนตกที่หมู่บ้านใดก็ต้องรู้ว่าน้ำจะพัดไหลไปยังที่แห่งใดบ้าง สิ่งเหล่านี้อยู่บนฐานศาสตร์พระราชา ที่เรียกว่า “แก้มลิงพวง” คือแต่ละบ่อที่ขุดจะต้องเชื่อมโยงกันด้วยความรู้ เป็นการนำน้ำฝนที่ได้มาฟรีๆ มาใช้ประโยชน์ได้ทั้งปี พระราชปณิธานของพระองค์ท่าน จึงนำมาเป็นหลักสูตรเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติในหลักสูตรชลกร
ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เมื่อ 10 ปีย้อนหลัง มีปริมาณฝนตก 245,000 ล้านลูกบาศกร์เมตรต่อปีโดยเฉลี่ย แต่เก็บน้ำฝนมาใช้ประโยชน์เพียง 7,000 ล้านลูกบาศกร์เมตร คิดเป็นสัดส่วนใช้ประโยชน์ทั้งประเทศ 5.5% ส่วนในภาคอีสาน 3.5 % “ซึ่งแล้งไม่จริง น้ำฝนตกลงมาเยอะ แต่เราจัดการไม่ได้ต่างหาก ในหลวงทรงรับสั่งหลายครั้ง “น้ำคือ่ชีวิต” น้ำคือต้นทางของทุกอย่างในการดำรงชีวิต แต่พวกเราก็มักชอบบริหารจัดการน้ำที่มีต้นทุน ใน 3 หลักการศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นหลักทรงงาน คือประหยัด ร่วมมือ ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ พวกเราต้องทำให้ถูก ชาวบ้านถึงตามได้”
คุณหญิงกัลยา ยกโมเดลต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในชุมชน “หมู่บ้านลิ่มทอง” ที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อหลาย 10 ปีก่อน จนปัจจุบัน คือต้นแบบการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากเคยได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2554 และ 2557 และทางบริษัท โคคาโคลา ยังนำวิธีการจากหมู่บ้านนี้ ไปเสนอที่ประชุมใหญ่ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ จนได้รับคำชื่นชมว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากภาคประชาชนให้ความร่วมมือ ให้ที่ทำถนนน้ำเดิน (ถนนเปลี่ยนเป็นทางน้ำตอนหน้าฝน) ถนนทำขอบขึ้นมา 15 เซนติเมตร พอน้ำล้นจากถนนก็ลงร่องน้ำที่เตรียมไว้ เพื่อให้ไปเติมน้ำในบ่อต่างๆ ที่เตรียมไว้ มีประตูน้ำ ถนนไม่พัง น้ำล้นไปยังจุดต่างๆ ได้ การบริหารจัดการน้ำฝนที่ได้มาฟรี ลงทุนถูก คิดแล้วเพียงไร่ละ 700 บาท พอทำได้แล้วก็สามารถแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 300% เปลี่ยนจากพื้นที่แล้งซ้ำซาก กลายเป็นพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดปี
ย้อนกลับมายังการสร้างและต่อยอด “หลักสูตรชลกร “ คุณหญิงกัลยา บอกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริจะขับเคลื่อนต่อไปไม่สิ้นสุด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฯ ถือเป็น 1 ชุมชน ฝนที่ตกลงมาในวิทยาลัยต้องไม่ให้หายไปไหน เช่นเดียวกับน้ำฝนที่ตกลงมาในชุมชน ต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี และเมื่อหมู่บ้านหรือชุมชนหนึ่งทำได้ ก็จะขยายไปในทุกๆหมู่บ้าน ทุก ๆ ชุมชนทั่วประเทศ”
“เราตั้งเป้าหมายว่าจะถ่ายทอดองค์ความรู้ สานต่อศาสตร์พระราชาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งคิดเป็น 80% ของพื้นที่ทั้งหมด ให้สามารถพึ่งการจัดการน้ำด้วยชุมชนได้ เหมือนตัวอย่างที่กล่าว ชุมชนหมู่บ้านลิ่มทอง
หลักสูตรชลกร มีประโยชน์อย่างมากต่อวงการศึกษาไทย และประเทศชาติในอนาคต เพราะผู้เรียนสามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แก้จน ลดต้นทุนน้ำ เพิ่มรายได้ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่เฉพาะแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่รวมถึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล"