“ริมฝั่งน้ำ” คว้ารางวัลละครหนึ่งเดียวที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐา
ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะสื่อผลงานคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัย และสร้างสรรค์ต่อสังคม ภายใต้ "โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานในพิธี
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดพิธีมอบรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ “เวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ตามกรอบแนวคิดการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ในเชิงบวก และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปัจจุบัน ภายใต้การเคลื่อนไหวของกระแสวัฒนธรรมโลกอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นการวางรากฐานค่านิยมให้คนในสังคมเรื่องวัฒนธรรม จริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะ การสร้างการมีส่วนร่วม และการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อันจะเป็นการส่งเสริมสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก
นายอิทธิพล กล่าวว่า โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของผู้ผลิตสื่อไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยเชื่อมั่นว่า หากผนึกกำลังเข้ากับการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะสามารถขับเคลื่อน สร้างสรรค์สังคมไทย และสร้างโอกาส รวมทั้งช่องทางใหม่ๆ ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ Thailand Soft Power ให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศเราได้
ด้าน นายนพพล โกมารชุน บริษัท เป่าจินจง จำกัด เจ้าของผลงาน “ริมฝั่งน้ำ” ละครหนึ่งเดียวที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานในครั้งนี้ เปิดใจถึงความรู้สึกว่า อันดับแรกต้องขอบคุณความกล้าของผู้ใหญ่ช่อง 3 ที่อนุมัติให้ทำเรื่องนี้ เพราะตัวเอกของเรื่องอยู่ที่ผู้อาวุโส ไม่ใช่พระเอกนางเอกที่เป็นเทรนด์ของละครทั่วไป และรู้สึกภูมิใจที่เรื่องนี้ได้นักแสดงอาวุโสระดับศิลปินแห่งชาติ และผู้ที่มีผลงานในวงการมาอย่างยาวนาน มาร่วมงานด้วย รางวัลที่ได้ในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จของทีมงานทุกคน โดยกล่าวถึง
ผู้กำกับของเรื่องอย่าง กัปตัน ภูธเนศ หงษ์มานพ ซึ่งเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาจากนักแสดง
ที่นอกจากจะมีความตั้งใจในการทำงานกำกับแล้ว ยังมีความอ่อนน้อมและทำงานร่วมกับนักแสดงอาวุโสได้ดี
เมื่อถามถึงที่มาของละคร “ริมฝั่งน้ำ” นพพล เปิดเผยว่าเกิดจากความตั้งใจของตัวเองที่รู้สึกผูกพันสำหรับแม่และเพื่อนๆ แม่ ซึ่งเป็นนักแสดงอาวุโส จึงอยากทำละครที่พูดถึงเรื่องราวของคนสูงอายุ และรวบรวมนักแสดงอาวุโสไว้ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่ค่อยมีใครนำเสนอ จนมาพบเรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่เป็นเรื่องราวของผู้สูงวัยที่มาอยู่ร่วมกันที่บ้านพักคนชราด้วยเหตุผลต่างๆกันไป เมื่อละครเรื่องนี้ออกอากาศ ปรากฎว่าได้รับฟีดแบคดีอย่างคาดไม่ถึงจากคนดูที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้พวกเขาได้ย้อนกลับมามองคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ว่าจิตใจเขาเป็นอย่างไร ก็ถือเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ในการดูแลและอยู่ร่วมกับคนสูงวัยด้วย
นักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน ยังได้ฝากว่า ผู้จัดละครและผู้กำกับละครไทย ยังมีงานดีๆ และพร้อมจะนำเสนอสู่สังคม ขอให้คนดูสนับสนุนและมองให้เห็นเนื้อหาที่สร้างสรรค์และข้อคิดดีๆ ที่ได้สอดแทรกให้ไว้ ในขณะเดียวกัน ก็ขอให้เข้าใจข้อจำกัดของการทำงานละครในบริบทสังคมไทยด้วย เช่น การนำเสนอเรื่องที่อ่อนไหว การถ่ายทำในสถานที่จริงบางแห่ง ที่ยังต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อให้คนทำงานได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อจะได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น
“ผู้จัดละคร ยังพร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากเหง้าของสังคมไทย แต่ทุกวันนี้ยังต้องเจอกับข้อจำกัดในการทำงานที่คาดไม่ถึง เป็นกำแพงที่หนามาก ที่ทำให้ผลงานละครไทยยังวนอยู่กับเรื่องราวเดิมๆ จึงอยากเห็นการพูดคุยอย่างจริงจัง รวมทั้งการสนับสนุนจาก 3 ส่วนหลักใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ คนดู และนายทุน คือสถานี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดละครที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกมาก” นพพล กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีจำนวนทั้งสิ้น 13 รางวัล จาก 10 ประเภทสื่อ ได้แก่
1. ละคร เรื่องริมฝั่งน้ำ โดยบริษัท เป่า จิน จง จำกัด (ประเภทสื่อโทรทัศน์)
2. แอนิเมชัน เรื่องอัศวิน 4.0 โดยมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน (ประเภทสื่อภาพยนตร์)
3. รายการยิ้มแย้มแก้มใส โดยสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ประเภทสื่อวิทยุ)
4. นิตยสารชีวจิต โดยบริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์)
5. เฟซบุ๊ก แฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ประเภทสื่อออนไลน์)
6. โฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่อง กสศ. “จดหมายลาครู” โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ บริษัท เดอะชู้ด จำกัด (ประเภทสื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์)
7. ภาพยนตร์เรื่อง “Spirit of Phutai อุ่น ผ้า-ทอ-รัก” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ประเภทสื่อท้องถิ่น)
8. เว็บไซต์ วิชาชีวิต โดยบริษัท อินไซด์ เดอะ แซนด์บ็อกซ์ จำกัด (ประเภทนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์)
9. นางนิรมล เมธีสุวกุล (ประเภทสื่อบุคคล)
10.ภาพยนตร์สารคดี ชุด วาฬบอกที โดยนายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน)
11. รายการ ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย โดยบริษัท ผองผล จำกัด (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน)
12. ภาพยนตร์สารคดี ปัตตานีแลนด์หลอด โดยนายอนีส นาคเสวี (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการวิจัยและขับเคลื่อนสังคม)
13. แอนิเมชัน ชุด ติดเกราะความคิด ปกป้อง ป้องกันภัย จากสื่อโซเชียลมีเดีย โดยบริษัท คูณ
ครีเอชั่น จำกัด (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ)
นอกจากนี้ ยังมีอีก 47 ผลงาน ที่ได้รับโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ผลิตสื่อดีมีคุณภาพสร้างสรรค์ผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคมไทย