xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเกียรติยศสูงสุด 13 รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานประกาศรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แก่สื่อที่ผลิตผลงานคุณภาพ เนื้อหาปลอดภัย และสร้างสรรค์ต่อสังคม ภายใต้โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานในพิธี

โดยผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีจำนวนทั้งสิ้น 13 รางวัล จาก 10 ประเภทสื่อ ได้แก่

1. ละครเรื่อง ริมฝั่งน้ำ โดยบริษัท เป่า จิน จง จำกัด (ประเภทสื่อโทรทัศน์)
2. แอนิเมชัน เรื่องอัศวิน 4.0 โดยมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน (ประเภทสื่อภาพยนตร์)
3. รายการยิ้มแย้มแก้มใส โดยสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ประเภทสื่อวิทยุ)
4. นิตยสารชีวจิต โดยบริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์)
5. เฟซบุ๊ก แฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ประเภทสื่อออนไลน์)
6. โฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่อง กสศ. “จดหมายลาครู” โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ บริษัท เดอะชู้ด จำกัด (ประเภทสื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์)
7. ภาพยนตร์เรื่อง “Spirit of Phutai อุ่น ผ้า-ทอ-รัก” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ประเภทสื่อท้องถิ่น)
8. เว็บไซต์ วิชาชีวิต โดยบริษัท อินไซด์ เดอะ แซนด์บ็อกซ์ จำกัด (ประเภทนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์)
9. นางนิรมล เมธีสุวกุล (ประเภทสื่อบุคคล)
10.ภาพยนตร์สารคดี ชุด วาฬบอกที โดยนายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน)
11. รายการ ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย โดยบริษัท ผองผล จำกัด (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน)
12. ภาพยนตร์สารคดีปัตตานีแลนด์หลอด โดยนายอนีส นาคเสวี (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการวิจัยและขับเคลื่อนสังคม)
13. แอนิเมชัน ชุด ติดเกราะความคิด ปกป้อง ป้องกันภัย จากสื่อโซเชียลมีเดีย โดยบริษัท คูณ ครีเอชั่น จำกัด (ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันและ
เฝ้าระวังสื่อ)


นอกจากนี้ ยังมีอีก 47 ผลงาน ที่ได้รับโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ผลิตสื่อดีมีคุณภาพสร้างสรรค์ผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคมไทย

นายอิทธิพล กล่าวว่า โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของผู้ผลิตสื่อไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยเชื่อมั่นว่า หากผนึกกำลังเข้ากับการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะสามารถขับเคลื่อน สร้างสรรค์สังคมไทย และสร้างโอกาส รวมทั้งช่องทางใหม่ๆ ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ Thailand Soft Power ให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศเราได้

“กองทุนฯ จะเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนฯ ประจำปี 2566 ในวันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้ในฐานะที่ท่านเป็นตัวอย่างของสังคม เป็นต้นแบบการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ช่วยกันกระจายข่าวและสนับสนุนให้ผู้ผลิตสื่อทั้งมืออาชีพและหน้าใหม่ หรือประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงาน องค์กรที่สนใจร่วมกันเสนอโครงการ เพื่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ด้าน นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การส่งเสริม การพัฒนาการผลิต และเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไกและกระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังและการรู้เท่าทันสื่อ คือ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกองทุนฯ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วประเทศ คณะผู้เชี่ยวชาญผู้คัดเลือกผลงานเพื่อรับโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะผู้ทรงคุณวุฒิผู้คัดเลือกผลงานเพื่อรับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการทุกท่านที่ได้ระดมสรรพกำลังร่วมกันโอบอุ้มโครงการนี้และก้าวเดินไปด้วยกันจนถึงที่หมายในวันนี้

“และที่สำคัญ ขอขอบคุณผู้สร้างสรรค์ผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทุกท่าน ทั้งที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม ผลงานคุณภาพของทุกท่านเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในวงการสื่อ รวมถึงผู้ผลิตสื่อรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์งานเพื่อสังคม เพราะทุกท่านคือแรงกระเพื่อมน้อยใหญ่ที่สามารถผลักดันให้วงการสื่อและสังคมไทยพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจากนี้กองทุนฯ พร้อมเดินหน้าผนึกพลังร่วมกับผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตสื่ออื่นๆ เพื่อสรรค์สร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคมไทยต่อไป”


โครงการ “เวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” นอกจากจะดำเนินงานตามกรอบแนวคิดการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ในเชิงบวกดังกล่าวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปัจจุบัน ภายใต้การเคลื่อนไหวของกระแสวัฒนธรรมโลกอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นการวางรากฐานค่านิยมให้คนในสังคมเรื่องวัฒนธรรม จริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะ การสร้างการมีส่วนร่วม และการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อันจะเป็นการส่งเสริมสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยมีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทําหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ การรู้เท่าทันเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาวิจัย พัฒนาความรู้และนวัตกรรม ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th