ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat เล่าให้เพื่อนธรณ์ เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องโลกร้อนล่าสุด ว่า
วัฏจักรของน้ำคือระเหยจากทะเล ไอน้ำอยู่ในอากาศ เมฆลอยเข้าแผ่นดิน กลายเป็นฝนตกลงมา
วัฏจักรนี้ไม่เปลี่ยน แต่ที่เปลี่ยนคือรายละเอียดที่เกิดจากโลกร้อน
เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยได้มากขึ้น ไอน้ำขึ้นไปในอากาศมากขึ้น
อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากกว่า หากอุณหภูมิในอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศา อากาศจะจุความชื้นได้เพิ่ม 7%
อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.1-1.2 องศา แต่นั่นคือค่าเฉลี่ย อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นมากกว่าในบางพื้นที่
เมฆยุคนี้ในบางพื้นที่จึงมีน้ำจุอยู่เยอะมาก ตกลงมาเป็นฝนที่หนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ
เม็ดฝนใหญ่ๆ ที่เห็นในภาพ ผมเพิ่งถ่ายมาเมื่อบ่ายนี้เอง
ไม่ใช่หมายความว่าแต่ก่อนไม่เคยมีฝนแบบนี้ แต่หมายความว่าฝนแบบนี้จะมีบ่อยขึ้น
ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ระบุว่าปีที่แล้วมีฝนตกหนักเกิน 100 มม. แค่ 4 วัน ปีนี้ยังไม่จบไตรมาส 3 เกินไปแล้ว 10 วัน
คราวนี้มาดูสิว่า เราจะเจอฝนแบบนี้มากขึ้นอีกไหม ?
ผมนำภาพโมเดลมาให้เพื่อนธรณ์ดู นั่นคือเปอร์เซนต์ฝนตกหนักที่มีเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศา
แต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งฝนตกน้อยลงด้วยซ้ำ กลายเป็นแห้งแล้งกว่าเดิม
ลองดูจุดสีแดง ประเทศไทย จะเห็นว่าเราอยู่ในเขตที่ฝนจะตกหนักเพิ่ม 8-12%
โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราจะเจอฝนโลกร้อน น้ำเทโครมจากฟ้า เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
8-12% ต่อทุกองศา และเชื่อว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในอัตราเร่ง
แม้อาจไม่สามารถวัดกันปีต่อปี แต่เมื่อดูความเสี่ยง ดูเทรนด์ มันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่ๆ ถี่ขึ้นและถี่ขึ้น
ความเดือดร้อนจากฝนตกหนักคงไม่ต้องอธิบาย เราเห็นกันอยู่แล้ว แทบทุกวัน หลายสถานที่
เมื่อเราทราบว่ามันไม่ลด มีแต่เพิ่ม เราก็ต้องพยายามหาทางเท่าที่ได้
เราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่มันไม่เห็นผลเร็วขนาดนั้น
ว่าง่ายๆ คือหากโลกหยุดปล่อย GHG ทั้งหมดในวันนี้ ที่ปล่อยไปแล้วอยู่บนฟ้าก็ยังทำให้โลกร้อนขึ้นลากยาวไปอีก 25 ปี (GHG - Greenhouse Gas)
เราจึงต้องปรับตัวให้พออยู่ได้ แน่นอนว่าการปรับตัวต้องทั้งช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐทำ ท้องถิ่นทำ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเองเท่าที่ทำได้
ของบางอย่างไม่เคยทำก็อาจต้องทำ บางอย่างไม่เคยลงทุน ไม่เคยคิด ไม่เคยระวัง ก็คงจำเป็นต้องคิดถึงให้มากขึ้น
มันเป็นยุคสมัยของการเอาตัวรอด ด้วยการหาข้อมูลให้เยอะ คิดให้รอบคอบ ที่จะช่วยเราได้ตั้งแต่การวางแผนกลับบ้านในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หาโรงเรียนลูก ฯลฯ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อนธรณ์บ้างนะครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ครับ
https://www.carbonbrief.org/explainer-what-climate.../
ก่อนหน้านี้ ดร.ธรณ์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2021 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา ซึ่งอุณหภูมิฐานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1-1.2 องศาเซลเซียสเหนือกว่าระดับในปี 1850 -1900 ก่อนช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม
โดยการที่โลกร้อนถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าสังเกตุไม่ได้อยู่ที่ว่าโลกร้อนมากแค่ไหน แต่อยู่ที่โลกร้อนเร็วแค่ไหน แต่สาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตโลกไม่ได้ร้อนขึ้นเร็วขนาดนี้
ช่วงของการที่ร้อนเร็วมันคือการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรียกว่า extreme weather หรือ สภาพอากาศสุดขั้ว ส่วนรูปแบบที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น Heat wave ความแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ฝนที่ตกหนักขึ้นเยอะมากในเวลาสั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้น้ำทะเลก็ร้อนขึ้น การระเหยของน้ำในทะเลก็มีมากขึ้น เมื่อไอน้ำลอยขึ้นในอากาศร้อนที่เก็บไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น ฉะนั้นถ้าเทียบเมฆในยุค100 กว่าปีก่อนที่เก็บไอน้ำได้น้อยกว่าในยุคนี้
ดังนั้นเมื่อเมฆจุไอน้ำไว้มากขึ้น จึงทำให้เวลาตกจะมีปริมาณน้ำที่มาก ปัญหาที่ตามมา เมื่อฝนตกในพื้นที่เล็กๆในช่วงเวลาสั้นๆส่งผลให้มีปริมาณน้ำมหาศาล จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่ายขึ้น อาจจะเห็นได้จากเหตุการณ์ ทั้งอเมริกา หรือ เกาหลีใต้ที่กรุงโซล ที่เกิดอุทกภัยหนักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือประเทศไทยที่ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นร้อยกว่ามิลลิลิตรในเวลาเพียงสั้นๆ