RISC พร้อมส่งต่อองค์ความรู้เชิงลึกด้าน Well-being สู่ Public วางแผนจัด 3 กิจกรรม ช่วงครึ่งหลังปี 2565 ยกระดับบทบาทของ RISC เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกิดการต่อยอดอย่างกว้างขวาง ร่วมกันสร้างประโยชน์และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงงานวิจัย ส่งเสริมการนำความรู้เชิงลึกไปประยุกต์ใช้จริง สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดย RISC เป็นผู้ค้นคว้า วิจัย และนำมาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability) และนวัตกรรม (Innovation) ที่หลากหลาย
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยถึง กิจกรรมเชิงวิชาการในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ว่า จัดเตรียมไว้ 3 กิจกรรม เพื่อขยายแนวร่วมในการสร้าง Well-being นำไปสู่ความยั่งยืน สร้างกระแสและกระตุ้นการต่อยอดความรู้ในเชิงวิชาการไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง เน้นเจาะกลุ่มสถาปนิก วิศวกร นักพัฒนาโครงการ นักวิชาการ องค์กร/บริษัท นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจและต้องการต่อยอดความรู้ไปในหลากหลายด้าน โดยมุ่งเน้นความหลากหลายของกิจกรรมให้ครอบคลุมในทุกมิติ
กิจกรรมที่หนึ่ง Well-being Engineering Program เป็นหลักสูตรใหม่ที่ RISC สร้างจัดทำขึ้น เพื่อสร้างกลุ่มคนที่เรียกว่า “New Army of Well-being” หรือ กองทัพเพื่อความอยู่ดีมีสุข โดยใช้ความรู้เชิงลึกจากงานวิจัยและการทำงานในการพัฒนาโครงการจริง ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนแนวคิด ด้วยความเข้าใจความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อการออกแบบอาคารจากเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดีหรือการอยู่ดีมีสุขครบด้าน ผสานกับวิศวกรรมงานระบบเชิงประยุกต์ทั้งกระบวนการวางแผนและจัดการภาพรวมเชื่อมโยงทุกส่วนของการพัฒนาโครงการได้ เพื่อทำให้โครงการ และอาคารต่างๆ นำไปสู่ well-being ได้จริง
หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นจากองค์ความรู้ด้านงานวิจัยเชิงลึกหลายศาสตร์ และจากประสบการณ์การนำความรู้เชิงลึกนี้ไปประยุกต์ใช้จริงในโครงการอสังหาริมทรัพย์แล้วมากมาย จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่หลากหลายด้านของ Well-being โดย RISC ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้หลากหลายและการผสานความรู้เหล่านั้น จนเกิดเป็นหลักสูตร “Well-being Engineering Program” โดยตลอดหลักสูตรจะได้รับการถ่ายทอดจากมืออาชีพที่หลากหลาย อาทิ เกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (EEC) ดร.นรี ภิญญาวัฒน์ ผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ททิเลีย เทน จำกัด ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส RISC ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์อีกหลายท่านมาร่วมถ่ายทอดความรู้ ที่สำคัญหลักสูตรนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับกรอบการปรับตัวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตของมนุษย์ (Resilience Framework for future Well-Being) อีกด้วย
กิจกรรมที่สอง การเปิดตัวหนังสือ “Sustainnovation” ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกชีวิต อันประกอบด้วย คำนิยามของความยั่งยืน (Sustainability) นวัตกรรม (Innovation) และตัวอย่างเกณฑ์ชี้วัดความยั่งยืนทั่วโลก และมีบทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสายอาชีพ ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และนักวิชาการ มาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับคำนิยาม และตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainnovation) ผ่านประสบการณ์การทำงานหลายทศวรรษทางด้านนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน พร้อมแนวทางปฏิบัติในการเป็นต้นแบบเพื่อความยั่งยืนให้กับสังคมไทยโดยกว้าง นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่าง “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainnovation)” ที่น่าสนใจทั่วโลกที่มาช่วยตอบ pain point ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ในรูปแบบที่หลากหลายอย่างที่คาดไม่ถึง
กิจกรรมที่สาม เปิดตัวศูนย์วิจัยย่อย 5 ศูนย์ หรือ Research Hubs for Well-being ภายใต้ RISC ทำงานวิจัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งมั่นดำเนินงานวิจัยสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสรรพสิ่งบนโลก หรือ For All Well-Being พร้อมทั้งมีความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์วิจัยเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณชน ภายใต้งานวิจัยใน 5 ด้าน (RISC’s 5 Hubs Research) ดังนี้
ด้านแรก งานวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร (Outdoor & Indoor Air Quality) การดูแลและรักษาคุณภาพภายในอาคารที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารโดยตรง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบให้มีการระบายอากาศที่ดี การเลือกวัสดุที่ปลอดสารพิษ ระบบเครื่องกล ตลอดจนกระบวนการก่อสร้าง ที่ช่วยควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร และจากสภาพอากาศปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลเสียต่อสุขภาพของทุกคนโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมในด้านต่างๆ อย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย จำเป็นที่ต้องมีงานวิจัยที่ช่วยลดปัญหาทางด้านอากาศทั้งภายในและภายนอกอากาศ ด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมคุณภาพอากาศที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศเชิงประยุกต์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีประเด็นต่างๆ เช่น การศึกษาข้อมูลคุณภาพอากาศภายในและภายนอกอาคารผ่านการประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์และระบบสารสนเทศ - การวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10 สารอินทรีย์ระเหยง่าย สารฟอร์มาลดีไฮด์ กลิ่น และอาการภูมิแพ้ กับการเชื่อมต่อระบบกับจอแสดงผล ควบคุม และปรับใช้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารอัตโนมัติ
ด้านที่สอง งานวิจัยด้านวัสดุและการใช้ทรัพยากร (Materials & Resources) การศึกษาและวิจัยวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอาคาร รวมถึงการใช้วัสดุทดแทนเพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลกที่นับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ ได้ หรือใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาวัสดุใหม่ (Innovation materials) เพื่อสร้างคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being materials) ทั้งการเพิ่มความคงทนของวัสดุรองรับการใช้งานได้ยาวนาน วัสดุที่มีความปลอดภัยช่วยลดแนวโน้มอุบัติเหตุ วัสดุที่ปลอดสารพิษลดแนวโน้มความเจ็บป่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี วัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน ตลอดจนวัสดุที่ใช้ทรัพทยากรคุ้มค่า ตลอดจนปรับกระบวนการก่อสร้างให้ไม่เหลือเศษ การนำขยะมาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้าง และด้านอื่นๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกที่เกิดอยู่ในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะมีปัญหาในอนาคตด้วย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์และโลกของเรา
สำหรับการวิจัยนวัตกรรมวัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดี มีประเด็นที่สนใจ เช่น 1. การทดสอบความคงทน สภาพอากาศ สารอินทรีย์ ระเหยง่าย การรับประกัน 30 ปี 2. ห้องสมุดรวบรวม จัดระดับ และการกำหนดราคา และการอนุญาตให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงคลังวัสดุเพื่อสุขภาวะ และ3.นวัตกรรมด้านการรีไซเคิล และการเพิ่มมูลค่าขยะ การจัดเก็บคาร์บอน และวัสดุหมุนเวียน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
ด้านที่สาม งานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Plants & Biodiversity)การศึกษาและวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการลดลงของพื้นที่สีเขียวในเมืองซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม จึงมีการศึกษาและวิจัยให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กับการรักษาและเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการพัฒนาเมือง สามารถทำได้ไปพร้อมกับการรักษาระบบนิเวศอย่างเข้าใจ และถูกต้องตามวัฏจักรชีวิตของทุกสิ่งมีชีวิต เกิดความสมดุลและสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้ส่งเสริมและเกื้อกูลกัน รวมทั้ง วิจัยหาและส่งเสริมศักยภาพของพืชพันธุ์ในด้านต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับทุกสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศที่ดีและยั่งยืนได้
โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบนิเวศที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ และมีประเด็นต่างๆ ที่จะศึกษา เช่น 1. การออกแบบภูมิทัศน์ที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดี การออกแบบงานภูมิทัศน์ ภายในอาคาร การปลูกพืชแนวสูง สวนระเบียง หลังคาเขียว และ2. ความหลากหลายทางชีวภาพ & ระบบนิเวศที่ยั่งยืน แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ ป่าในเมือง
ด้านที่สี่ งานวิจัยด้านการสร้างความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ (Happiness Science) การศึกษาและวิจัยเพื่อสร้างความสุขให้กับมนุษย์ ผ่านการศึกษาพฤติกรรมและจิตวิทยาของคนทุกช่วงวัย ด้วยการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่ผลกระทบของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ การเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ความเครียดและความกังวลของวัยผู้ใหญ่ ความเสื่อมถอยด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ เพื่อหาปัจจัยในการส่งเสริมในแต่ละช่วงวัยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และนำความรู้ประยุกต์การออกแบบให้สอดคล้องและเอื้อต่อการใช้ชีวิต ส่งเสริมปฎิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างกัน
นอกจากนั้น ยังทำวิจัยด้านประสาทการรับรู้ของมนุษย์ ผ่านสัญญานสมองและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าใจการรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ จากสภาพแวดล้อมรอบตัว ข้อมูลที่เก็บและแปลผลจากสัญญานสมองนำมาประยุกต์ใช้สร้างสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างการรับรู้เชิงบวกที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างความสุข รวมถึงการหาแนวทางในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ทั้งภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล สมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ และประยุกต์ความรู้สู่การช่วยเหลือคนและสังคมในวงกว้างต่อไป
โดยมีวิสัยทัศน์ในการออกแบบตามหลักประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และมีประเด็นที่สนใจศึกษา เช่น 1. การทดสอบ วัดผล และจำลองพื้นที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ ดี และ2. ออกแบบพื้นที่และการใช้เทคโนโลยีร่วมกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพื้นที่ และ3. การออกแบบพื้นที่เพื่อพัฒนาการด้านอารมณ์และทักษะ
ด้านที่ห้า งานวิจัยด้านศาสตร์ความพร้อมรับมือ (Resilience) การศึกษาและวิจัยในปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเมืองและโลกของเรา ทั้งปัญหามลภาวะอากาศ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคน สังคม ตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน (climate change) เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงเกิดการวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และวางแผนการสร้างอาคารและเมือง เพื่อสามารถตั้งรับได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ การจัดการขณะที่เหตุการณ์รบกวนนั้นกำลังเกิดขึ้น และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์รบกวนนั้นผ่านไปแล้ว เพื่อสร้างการ “อยู่รอด (survive) ปรับตัว (adapt) และเติบโต (grow)” ได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
โดยมีวิสัยทัศน์ในการออกแบบเพื่อความพร้อมรับมือบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยเสี่ยงภายในโลกเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และมีประเด็นสนใจศึกษา เช่น 1. การตรวจจับ การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูล 2. การจัดหาแนวทางแก้ไขปัญหา - แนวคิด กรอบรายการตรวจสอบ แนวทาง กลยุทธ์การรับมือ และแนวทางการประยุกต์ใช้3. การจัดการความเสี่ยง - การคาดการณ์ การจ าลองภาพเหตุการณ์ และการคาดคะเนอนาคต
ดร.สิงห์ ทิ้งท้ายว่า งานวิจัยจาก 5 Research Hubs จะนำมาเผยแพร่เพื่อเกิดการต่อยอดทั้งในด้านองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้จริงทั้งในโครงการอสังหาริมทรัพย์และต่อยอดไปในหลายด้าน เพื่อร่วมกันสร้าง well-being และความยั่งยืนผ่านงานวิจัยเชิงลึกสู่การประยุกต์ใช้จริงต่อไป เพื่อเป็นการให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้สังคมไทยได้ประโยชน์ จากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความอยู่ดีมีสุขของทุกชีวิต ตั้งแต่ระดับบุคคล องค์กร ชุมชนเมือง จนถึงระดับโลก
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center; RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน