ความคาดหวังที่จะนำพาประเทศที่รักของเราทุกคนไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องร่วมตระหนักพร้อมทั้งช่วยกันดูแลไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำ
จากกรณีด.ญ.เขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2/2 ในวัยที่กำลังน่ารักของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี ถูกลืมไว้บนรถตู้รับ-ส่งนักเรียนตั้งแต่เช้าถึงเย็น จนขาดอากาศเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อ วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 17.00 น.
สังคมตั้งคำถามเหมือนทุกครั้งว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นเพราะอะไร ? และใครเป็นผู้รับผิดชอบ ?
คำตอบที่ได้รับนั้นสามารถนำไปสู่มาตรการป้องกันได้จริงหรือ ? และอนาคตมีการกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันไว้ไม่ให้เกิดซ้ำหรือไม่ ? สองคำถามนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งกว่า ยิ่งหากเมื่อพิจารณาถึงการนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทระยะที่สามที่หน่วยงานรัฐกำลังดำเนินการในขณะนี้ อีกทั้งโครงการที่สอดคล้องที่ได้รับการอนุมัติแล้ว
ประเทศไทยมีระเบียบว่าด้วยแนวทางการขออนุญาตนำรถไปรับจ้างรับส่งนักเรียน โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 จะเห็นได้ว่ากรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่ให้อนุญาตแก่ผู้ที่ขอ
ในความเป็นจริงสังคมโดยเฉพาะผู้ปกครองทราบดีว่าผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการมีทั้งได้รับอนุญาตแล้วและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโรงเรียนจะทราบดีที่สุดเนื่องจากมีหน้าที่ในการควบคุมและกำกับดูแล คำถามคือมีรถที่ไม่ได้รับอนุญาตกี่คันในปัจจุบันที่ให้บริการ ? จากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวโรงเรียนเองมีหน้าที่แต่ไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบ !!!
คุณสมบัติผู้ควบคุมดูแลนักเรียนเองก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงสุขอนามัยอันเป็นเรื่องที่สำคัญในปัจจุบัน ความเป็นจริงคือมีครูที่ออกรถและให้บริการด้วย กรณีนี้โรงเรียนจะมีความสามารถควบคุมจัดการอย่างไรให้เหมาะสมและถูกต้องได้กับทุกฝ่าย ความเป็นจริงคือมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนนอกเหนือจากพนักงานขับรถโรงเรียนตามที่กำหนดไว้ดังที่ระบุว่า “ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน” หรือ ? ความเป็นจริงคือพนักงานขับรถสามารถ “กำกับดูแลให้นักเรียนรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งเพื่อป้องกันอันตรายในขณะโดยสาร ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ” หรือ ? ความเป็นจริงโรงเรียนได้ทำการตรวจสภาพรถโรงเรียนหรือ ? และโดยภาพรวมนั้นการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพียงพอและครอบคลุมถึงการป้องกันไม่ให้ปัญหาเด็กนักเรียนติดอยู่ในรถไม่เพียงพอเลย
ไม่ว่าการพิจารณากำหนดอายุเด็กนักเรียนที่จะรับบริการได้ การสอนเด็กนักเรียนและมีการทบทวนตามที่กำหนดในการแก้ไขและช่วยเหลือตนเองได้ การประเมินความพร้อมของเด็กก่อนรับบริการ การติดตั้งอุปกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังภายนอกทั้งเสียงและแสงจากรถโรงเรียน (กรณีนี้ควรพิจารณานำมากำหนดเป็นมาตรฐานรถแท็กซี่เพราะช่วยลดปัญหาอาชญากรรม)
ข้อกำหนดที่ครอบคลุมการยินยอมการรับบริการ คู่มือการบริการ มาตรฐานรถโรงเรียนที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมความปลอดภัยละเอียดมากกว่าปัจจุบัน การกำหนดบทลงโทษอันครอบคลุมถึงโรงเรียนและผู้ปกครอง ด้วยเหตุที่ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ระบุถึงหน้าที่ของผู้ปกครองเลย การแบ่งปันข้อมูลร่วมกันซึ่งปัจจุบันสถิติจะจัดเก็บโดยกรมควบคุมโรค แม้ว่าสภาพปัญหาทางสังคมเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่สามารถแบ่งแยกว่าเป็นปัญหาเฉพาะในสังคมเมือง เพราะการมีรถโรงเรียนเป็นเรื่องที่ดีสามารถช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจร ภาระผู้ปกครอง อีกทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ก็ได้ให้ความสำคัญมาดูแลประชาชนมากขึ้น
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ห้วง พ.ศ. 2561 – 2580 มีทั้งสิ้น 23 แผนแม่บท จะมีส่วนช่วยในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำได้หรือไม่ ? ด้วยเจตนารมย์ในห้วงต่อไปเน้นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องทราบและผู้ดำเนินการต้องจัดทำแผนแม่บทระยะที่สามและโครงการให้สอดคล้องและสอดประสานรับกัน เมื่อเข้าไปอ่านเอกสาร “สรุปสาระสำคัญ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580” กลับไม่ได้บ่งบอกถึงการดูแลประชาชนด้านความปลอดภัยเลยโดยเฉพาะเด็กอนาคตของชาติที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากพอ แม้แต่ในประเด็นด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ด้านความมั่นคงแม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติจะระบุว่า ความมั่นคงได้รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินแล้วก็ตาม ยิ่งเมื่อลงรายละเอียดติดตามข้อเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่ได้รับการอนุมัติแล้วพบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องในด้านความปลอดภัยสองโครงการคือ โครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงกลาโหม และโครงการ "การวิจัยและยกระดับความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้าจากอุบัติเหตุในการชนและอุปกรณ์ดูดซับแรงกระแทกทางถนนในประเทศไทย" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยไม่ปรากฏโครงการในหน่วยงานกระทรวงหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด !!!
วันนี้ชีวิตผู้ปกครองผู้เสียลูกสาวที่รักไป ครู พนักงานขับรถ ชีวิตเหมือนตายทั้งเป็น สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากการชี้ถูกและผิดเมื่อระบบไม่ได้พัฒนา การกำกับและติดตามอย่างสม่ำเสมอถูกละเลย โครงการที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านความปลอดภัยไม่ได้ถูกกำหนด บทความนี้หวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดแผนงานในงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องตอบโจทย์ทิศทางประเทศได้อย่างแท้จริง เพื่อประเทศไทยที่เรารักสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จบเสียทีกับปัญหาวนครับผม !!!
บทความโดย ปณิธาน สืบนุการณ์
นักพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน