สหประชาชาติ ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) จัดวงอภิปรายอย่างไม่เป็นทางการ กับผู้นำด้านการเงินของไทย และผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ร่วมผลักดันความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืน กระตุ้นให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero เตรียมนำเสนอประเด็นนี้อย่างเข้มข้น ในงานใหญ่แห่งปี GCNT Forum 2022 พฤศจิกายนนี้
กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติในประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมว่า ความเป็นผู้นำจากภาคเอกชน ธนาคาร และนักลงทุน เป็นกุญแจสำคัญในการขยายการจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG (Environment, Social, Governance) โดยเฉพาะความเป็นผู้นำของภาคเอกชน ซึ่งรวมถึง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลดล็อกทางการเงินที่จำเป็น และส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายด้าน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
“ความยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเหล่านี้ทั้งหมด และระบบนิเวศการลงทุนที่ยั่งยืนที่เราส่งเสริมเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ตัวแทน UN เน้นย้ำ
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ภาคการเงินสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในการดำเนินธุรกิจของตน ในขณะที่ ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ข้อมูล และบริการที่จำเป็นในการสนับสนุนความยั่งยืนและการปรับเปลี่ยนของธุรกิจ โดย UN และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดตัว SDG Investor Map เครื่องมือวิเคราะห์ตลาด ที่เน้นย้ำถึงโอกาสสำหรับการลงทุนด้านความยั่งยืน เพื่อเร่งความก้าวหน้าของ SDGs ในประเทศด้วย
“ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางของรัฐบาลที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแล สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือการสร้างระบบนิเวศและเป็นแบบอย่างของผู้นำ SDGs” รื่นวดี กล่าว
ในส่วนของนักการเงินที่เข้าร่วมวงอภิปรายในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ธนาคารกสิกรไทย HSBC Thailand บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) สมาคมธนาคารไทย และกองทุนเพื่อการพัฒนาทุนแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งตัองอาศัยความเข้าใจและการยอมรับจากผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัท และยืนยันถึงศักยภาพของการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ย้ำให้มุ่งเน้นที่การสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง ด้วยการลงทุนที่มากขึ้นในบริษัทที่มีส่วนทำให้เกิดเศรษฐกิจยั่งยืน โดยเห็นว่า ขณะนี้มีธุรกิจไทยจำนวนมากขึ้นที่ยอมรับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความคืบหน้าต่อไปจำเป็นต้องขยายห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเศรษฐกิจสีเขียวต้องการการบริโภคสีเขียว เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์และการลงทุนที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีอุปทานให้สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ พบว่ามีการเติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดพันธบัตรเขียว จาก 9.9 พันล้านบาทในปี 2563 เป็น 32.9 พันล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 และกองทุน ESG ที่กำลังเฟื่องฟูและเห็นผลตอบแทนที่ดี ซึ่งหมายถึง เสียงของนักลงทุนโดยรวม และเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่มองหาบริษัทที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสีเขียว กำลังส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการจัดการทางการเงินที่ชาญฉลาด สามารถดำเนินการไปพร้อมกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทุกฝ่ายได้เน้นย้ำตรงกันว่า การตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันจากทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ เมือง บริษัท และบุคคล
ด้าน เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ชี้ว่า ภาคการเงิน การลงทุน มีบทบาทมากในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้ยกระดับการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่ง คือการเปิดเผยข้อมูลผ่าน One Report ที่แสดงถึงผลการดำเนินงานด้าน ESG รวมทั้งการจัดการด้านการเงินที่ยั่งยืน ซึ่ง GCNT และ UN จะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะร่วมกันจัดงานใหญ่แห่งปี GCNT Forum 2022 ที่จะตอกย้ำความเป็นผู้นำภาคเอกชนในการรับมือกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดเผยถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและประเทศไทย ให้เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ โดยจะจัดให้มีเวทีหารือกันถึงการเงินที่ยั่งยืนอย่างเข้มข้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเปราะบางของประเทศไทยต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่าความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย คือ อีกหนึ่งต้นทุนที่สำคัญต่อการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาพอากาศสุดขั้ว ที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“ขณะนี้ GCNT มีสมาชิกกว่า 100 องค์กร จากหลากหลายประเภทและขนาดธุรกิจ ที่มุ่งมั่นร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรากำลังระดมสรรพกำลังจากสมาชิก เพื่อเร่งเครื่องธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน รวมถึงรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ เราต้องผนึกพลังจากทุกภาคส่วน เสริมปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ดังเช่น ความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืนจากนักการเงินชั้นนำของไทย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่จะเปิดเวทีพูดคุยกันต่อ ในงาน GCNT Forum 2022 ที่จะขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้” เนติธร กล่าวทิ้งท้าย