วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลที่แปรเปลี่ยนไปจากปกติ สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง และภัยพิบัติอื่นๆ ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงส่งผลกระทบต่อกันในธรรมชาติและแน่นอนว่าย่อมส่งผลเชื่อมต่อกับมนุษยชาติด้วยเช่นกัน
ขณะที่การปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ และการสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของทุกคนบนโลกใบนี้เช่นกัน ทว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้อย่างแท้จริงจำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันคิดและลงมือทำอย่างจริงจังในหลายระดับหลายมิติ ทั้งภาพใหญ่ในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับองค์กร จนถึงระดับบุคคล
SCG ดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) สนับสนุนและต้องการมีส่วนสำคัญในการสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ดังนั้น การประชุม CEO Forum : Collaboration for Low-Carbon Society ในงาน ESG Forum 2022 “โลกป่วยขั้นวิกฤต จะกู้โลกได้อย่างไร” โดย SCG จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดจากซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในไทยที่มาผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
โดยมี 60 องค์กรชั้นนำจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วม อาทิ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งหน่วยงานหลักของภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สถาบันพลาสติกไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปรษณีย์ไทย และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย การระดมและรวบรวมความคิดเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำในเวทีดังกล่าวดำเนินไปและสรุปความคิดเห็นของผู้บริหารในภาพรวมใน 3 มิติ ได้แก่
มิติแรก สังคมพลังงานสะอาด Social of Green Energy & Efficiency เป็นการพูดคุยในประเด็นว่าผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้ตอบสนองต่อการใช้พลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งพลังงานทางเลือก ทั้งในห่วงโซ่คุณค่า และภายในองค์กร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้นวัตกรรมเพื่สนับสนุนการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตัวอย่างหนึ่งคือการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการฐานข้อมูล (Big Data) การใช้พลังงานของประเทศไทย เพื่อเป็นจุดเริ่มให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ในการจัดการภายในองค์กรต่อไป โดยทุกภาคส่วนต้องสนับสนุนการใช้ระบบข้อมูลการใช้พลังงาน ซึ่งต้องมีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แหล่งเงินทุนที่เกื้อหนุนการใช้พลังงานสีเขียว (Green Finance) และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Digital for Energy) เพื่อใช้
ในการจัดการอย่างมีประสิทธิผล
อีกตัวอย่างคือภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้พลังงานสูง จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการผลิต เพิ่มนวัตกรรมและรูปแบบการใช้พลังงาน ที่ใช้พลังงานอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหรือใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ยังต้องมีแผนและทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมมาตรการที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง และมี Incentive ในการใช้งานเพื่อจูงใจให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้น
มิติที่สอง สังคมไร้ขยะ Society of Zero Waste เป็นการพูดคุยในประเด็นว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยเน้นการผลิตสินค้า บริการ หรือโซลูชั่นที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย (Waste) หรือมีการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพต่อการเกิดคาร์บอน โดยตัวอย่างแนวทางการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไร้ขยะ คือควรสร้างกลไกการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ให้เข้าใจกระบวนการจัดการของเสีย Waste อย่างถูกต้องและกว้างขวาง โดยในการจัดการต้องเริ่มต้นที่การออกแบบให้มีของเสีย หรือ Waste น้อยที่สุด โดยของเสียที่เกิดขึ้นสามารถนำมาทำประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง ด้วยวิธีการ Recycle หรือ Upcycling
นอกจากนี้ การลดปริมาณหีบห่อที่เกินจำเป็น การลดการเผาของเสียทางการเกษตร โดยเปลี่ยนไปเป็นทรัพยากรของพลังงานทางเลือกสู่ปลายทางที่การออกแบบระบบคัดแยกและจัดการของเสีย รวมทั้ง การปลูกฝังผู้บริโภคทุกคนให้มีวินัยในการคัดแยกขยะผ่านการใช้สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการจัดการตั้งแต่ต้นทาง พร้อมด้วยการวางกรอบนโยบายของภาครัฐ ควรต้องมีกฎระเบียบ และมาตรฐานที่ชัดเจน ร่วมกับการจัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้การขับเคลื่อนมิติสังคมไร้ขยะก้าวรุกได้เร็วขึ้น
มิติที่สาม สังคมบริโภคอย่างยั่งยืน Society of Sustainable Consumption แม้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะตระหนักและตื่นตัวอย่างมากต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน เพราะรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาและวิกฤตหลากหลายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นอยู่และถาโถมอยู่ในสังคมโลก
ทว่ายังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจต่อการเป็นไปของโลกในวันนี้และคนรุ่นหลังที่จะต้องเผชิญกับผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากการบริโภคเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสังคมบริโภคที่ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมของตลาดในการบริโภคเท่าที่จำเป็น รวมทั้งการใช้สินค้า บริการ และโซลูชั่นคาร์บอนต่ำ
โดยเริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางด้วยการขับเคลื่อนกระบวนการสู่การบริโภคอย่างยั่งยืนผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นตั้งแต่สายพานการผลิตที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกับการจัดซื้อสีเขียว ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างรับผิดชอบ
การระดมสมองของภาคเอกชนในครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การสนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมความร่วมมือทั้งหมดนี้จะเกิดเป็นจริงได้
จำเป็นที่ทุกคนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และแต่ละบุคคล ต้องรวมพลังร่วมสร้างสรรค์และขับเคลื่อน “สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองทันที แล้วขยายต่อไปยังส่วนอื่น เพื่อร่วมกันนำพาโลกของเราฝ่าวิกฤตและก้าวย่างสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง