GC รวมพลังพันธมิตรตอกย้ำถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ที่ไม่เพียงแต่พูด แต่จะนำเป้าหมายมาปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม
“GC Circular Living Symposium 2022 : Together to Net Zero” การประชุมระดับนานาชาติเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อรวมพลังภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และสังคม ให้ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่สำคัญระดับโลก
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงาน “GC Circular Living Symposium 2022 : Together to Net Zero” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตั้งแต่มีข้อตกลงปารีสในปี 2016 ในการประชุม COP 21 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกิดความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เห็นความร่วมมือในระดับนานาชาติมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2021 ในการประชุม COP 26 เกิดก้าวสำคัญอีกครั้ง เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติมีความตั้งใจร่วมกันที่จะลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศา ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2020 และต้องยกระดับไปสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
“สำหรับประเทศไทย ตั้งเป้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ประเทศไทยไม่ได้พูดไปเรื่อยๆ แต่ลงมือทำ โดยมีรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อผลักดันประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง BCG ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ นำกรอบแนวทางนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2022 - 2027 เช่น Green Gold เป็นหนึ่งมาตรการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และมีการกำหนดแนวทางขึ้นมาแล้ว”
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ภัยคุกคามในอนาคต แต่เป็นวิกฤตการณ์ที่กำลังทำร้ายเราอยู่ในปัจจุบัน เราจะต้องเอาชนะให้ได้ และกระทรวงทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่นในวันนี้กับ PTT GC เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเราหมดเวลาที่จะพูดหรือชี้ไปที่คนอื่น แต่ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าไม่ใช่เรา แล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่ทำตอนนี้ จะทำตอนไหน จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน และทุกคน ร่วมกันนำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ เมื่อทุกคนทำงานร่วมทีม เราจะสามารถเอาชนะภัยคุกคาม และเมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกอย่างจะเป็นไปได้”
๐ Think Big , Start Small แนวคิดขับเคลื่อนกรุงเทพฯ
ในงานดังกล่าวมีการเสวนาในหัวข้อ ‘How Sustainability Action is Unlocking New Possibilities’ เพื่อหาคำตอบว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อโลกที่ยั่งยืนได้อย่างไร เริ่มโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้องทำให้ Net Zero เป็นสิ่งเข้าถึงได้ เพราะมีการพูดว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่การทำต้องมองภาพใหญ่ ปักธงแล้วคิดย้อนกลับไปว่าจะทำไปทีละขั้นตอนอย่างไรบ้าง อาจจะมองภาพ 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสำหรับองค์กรขนาดใหญ่เชื่อว่าจะทำให้ Net Zero เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่สำหรับ SME ต้องเข้าไปช่วยเพื่อให้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่ดี ให้ระบบนิเวศที่เหมาะสม ให้ความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้
แนวทางคือต้องให้ความสำคัญว่าอะไรคือก้าวแรกที่ต้องทำ ต้องเข้าใจแต่ละปัญหาอย่างลงลึกในรายละเอียด ต้องรู้ว่า Net Zero เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรเริ่มทำได้ และทุกคนมีส่วนร่วมได้ ทั้งการปลูกต้นไม้ การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสียรวมทั้ง การลดใช้พลังงาน โดยทำให้กรุงเทพฯ เย็นลง ด้วยการคิดใหญ่ แต่ทำทีละเล็กๆ ค่อยๆ ทำ คือ Think Big , Start Small ซึ่งสุดท้ายจะเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เราทำได้
๐ GC สร้างระบบนิเวศ เชื่อมต่อทุกภาคส่วน
สำหรับผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจระดับโลก เริ่มโดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ในนามผู้นำองค์กรถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญในการสร้างโอกาสให้ธุรกิจและสังคม เพราะปัจจุบันเห็นแล้วว่าความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่ง GC มีเป้าหมายเปลี่ยนไปเช่นกัน และเห็นว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของทุกคน ในส่วน GC ช่วยสร้างระบบนิเวศให้เอกชนและภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกัน และที่สำคัญคือต้องเริ่มจากการสร้าง “การตระหนักรู้” ให้กับทุกคน สื่อสารเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หลังจากนั้นจะก่อให้เกิดการลงมือกระทำต่างๆ ได้ เพราะเรื่องนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้จริง
เริ่มจากจำเป็นต้องทำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการลดคาร์บอนเท่าไรในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับคนรุ่นถัดไป และสิ่งที่ GC กำลังทำ เช่น เรื่อง Green Product เรื่องกลไกการชดเชยโดยธรรมชาติด้วยการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน รวมทั้ง เรื่อง Carbon Capture ซึ่งสำหรับคนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ อย่างไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือการช่วยคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล เป็นการสร้างระบบนิเวศให้ทุกคนมีส่วนร่วมไปพร้อมกับการใช้ชีวิตปกติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยกัน
ดร.คงกระพัน ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาโลกรวนต้องเป็นการทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม อันดับแรก การเชื่อมจุดต่างๆ ช่วยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันได้ โดยองค์กรใหญ่ๆ สามารถร่วมมือกันง่าย เช่น กทม. ไทยเบฟ เนสท์เล่ หัวเว่ย นอกจากนี้ ยังให้โอกาสเอสเอ็มอีเชื่อมต่อระบบนิเวศ และเนื่องจาก GC เป็นผู้รีไซเคิลพลาสติกรายใหญ่ที่สุด ต้องการสร้างโอกาสและกระจายองค์ความรู้ แชร์ข้อมูลเพื่อให้ชุมชนและสังคมมุ่งสู่เป้า Net Zero ไปพร้อมกันได้ อันดับสอง การรีไซเคิลพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดงานและการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ ให้คนในชุมชน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม แต่ถ้าสามารถเชื่อมจุดเล็กๆ เข้าด้วยกัน จะสามารถสร้างเส้นตรงขนาดใหญ่ ซึ่งเส้นเหล่านี้จะเป็นโอกาสสร้างโลกของเราให้ดียิ่งขึ้น และก่อให้เกิดโลกสีเขียวที่แท้จริงสำหรับคนในยุคต่อไป
๐ 2 ตัวอย่างพันธมิตร ร่วมนำทีมขับเคลื่อน
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวความคิดเรื่อง Net Zero เข้ามามีบทบาททั้งต่อผู้คนยุคนี้และเด็กยุคใหม่ เป็นเรื่องที่รับรู้และเข้าใจกันมากขึ้น สำหรับหัวเว่ยสนับสนุนการลดปัญหาโลกร้อนอย่างมาก และด้วยการดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี ต้องใช้เทคโนโลยีจัดการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และในเรื่องอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องพยายามลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเรื่อง Net Zero ดำเนินมาตลอด รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรและบริษัทต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นกัน โดยมีไกด์ไลน์เพื่อการลดการใช้พลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้า Net Zero สำหรับโอกาสประเทศไทยที่จะไปถึง Net Zero ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีทั้งการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี มีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวย และมีระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิ โดยมีความร่วมมือมากมาย เช่น การร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการเกษตรแบบยั่งยืน การให้ความรู้เรื่องรีไซเคิลกับชุมชนและโรงเรียนต่างๆ การริเริ่มใช้หลอดกระดาษทดแทนหลอดพลาสติกตั้งแต่ 2 ปีก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำคนเดียวได้ แต่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเป็นรัฐหรือเอกชนก็ตาม ต้องร่วมกันเพื่อให้เกิด Net Zero