xs
xsm
sm
md
lg

คนยุคใหม่ควรมีคุณสมบัติอะไร? เพื่อให้มีความยั่งยืนในชีวิตการทำงาน /ศ. กิตติคุณ ดร. กุณฑลี รื่นรมย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนเมื่อครั้งเป็นนักเรียน หรือนิสิตนักศึกษาไม่ชอบเข้าห้องสมุด เพราะรู้สึกว่าห้องสมุดคือที่เก็บหนังสือหรือตำราที่น่าเบื่อ หน่าย เหตุผลอีกประการ คือ การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปค้นคว้าหาหนังสือ ตำรา หรือเอกสารสำคัญในห้องสมุด เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ทุกคนสามารถมีห้องสมุดบนมือถือได้ เพียงแต่รู้จักจะค้นหาสิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บทความเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับห้องสมุดที่เป็นห้องสมุดทั่วไปที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า LIBRARY แต่เป็นเรื่องของ “คน” ในทุกวันนี้โดยเฉพาะคน Gen Y Gen Z และ Gen Alpha ที่ควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างเพื่อให้สามารถดำรงตนไปสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน คุณสมบัติ L-I-B-R-A-R-Y ที่สังเกตมายาวนาน มีดังนี้

L – Leaning all your life คนเราเมื่อเกิดมาแล้วไม่ว่าจะจนหรือมีต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้มีทั้งจากในและนอกห้องเรียน การเรียนรู้ที่มีผู้สอนมีหลักหรือทฤษฎีเป็นพื้นฐานมีความจำเป็น แต่ต้องผสมผสานกับความช่างสังเกต จดจำ แยกแยะเป็นว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ ต้องฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ของตนเองไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต้องมีความรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ติดตัวอยู่กับตัวเราตลอดไป


I – Integrity หลายคนแปลคำว่า Integrity ว่าความซื่อสัตย์ แต่ที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายมากไปกว่าความซื่อสัตย์ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น มีคุณธรรมในจิตใจ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสามัญสำนึก Integrity จะทำให้ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลอื่น ปัจจุบัน Integrity กำลังเป็นจุดอ่อนแอของสังคมไทยในภาพรวม เราจึงต้องการคนที่มี Integrity มีความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ยุติธรรม โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำของหน่วยงานทุกแห่งไม่ว่าเล็กหรือใหญ่


B – Basic คือ พื้นฐาน เป็นคุณสมบัติที่พึงมีเพราะความรู้พื้นฐานเป็นแนวทางในการทำงานทุกอย่าง คนรุ่นใหม่ต้องไม่มองข้ามพื้นฐาน การทำอะไรแบบก้าวกระโดดเพราะต้องการความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแต่ขาดความรู้พื้นฐานที่ดีอาจทำให้พลาดพลั้งได้ง่าย ในยุคสมัยใหม่นี้การทำอะไรแบบลุยไปก่อน หรือลองผิดลองถูกมีทั้งความเสี่ยงทางการเงิน การสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรควรมีทักษะขั้นพื้นฐานไว้ก่อนซึ่งต้องอาศัยจากการเรียนรู้ (L)


R – Responsibility คือ มีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กโดยต้องอาศัยพ่อแม่ ครู อาจารย์ที่จะต้องฝึกฝนเด็กให้มีความรับผิดชอบ คนที่สามัญสำนึกรับผิดชอบเท่านั้นจึงจะก้าวหน้าและได้รับการยอมรับทั้งจากหัวหน้าและลูกน้อง ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ คุณสมบัตินี้จึงเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะเติบโตต่อไปในการทำงานในอนาคตได้ต่อไปอย่างยั่งยืน


A – Acquiring knowledge คือ การเสาะแสวงหาความรู้ คนที่ต้องการเสาะแสวงหาความรู้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนสูงได้ปริญญาโทหรือปริญญาเอก แต่ต้องเป็นคนที่กระหายจะได้ความรู้ ซึ่งการเสาะแสวงหาความรู้ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีแหล่งข้อมูลมากมายในทุกวันนี้ การแสวงหาความรู้สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก แต่ผู้แสวงหาความรู้ที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องสามารถแยกแยะ เปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ความรู้ที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือนำไปต่อยอดได้ จึงจะเรียกว่าเป็นการเสาะแสวงหาความรู้อย่างถูกต้อง


R – Resourceful person คือ ผู้ที่มีความสามารถช่วยเหลือตนเองหรือผู้อื่นเมื่อเกิดปัญหาได้ เราจะพบว่าคนที่เป็นที่ปรารถนาของหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานคือคนที่แก้ปัญหาเป็น เป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณ มีความคิดสร้างสรรค์ Resourceful person เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยาก ถ้าหน่วยงานใดมี Resourceful person เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่มีปัญหา และได้คนนั้นเข้ามาช่วยแก้ไขอย่างทันท่วงที ต้องถือว่าบุคคลนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร


Y – Yes, I can เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ คือคนที่มีเจตคติที่ดีในการทำงาน ไม่ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายโดยทันทีแม้ว่าจะเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน คุณสมบัติของคนที่ไม่ปฏิเสธงานประการแรก คือ ต้องมีความเสียสละระดับหนึ่งที่จะยินดีทำงานแม้ว่าตนเองอาจจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ด้วยเจตคติว่า “ฉันทำได้” จะสามารถพัฒนาตนเองให้มีประสบการณ์มากขึ้นต่อไปในอนาคต คนที่ปฏิเสธงานหรือหลบเลี่ยงงานเมื่อได้รับมอบหมายย่อมยากที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้


"คุณสมบัติทั้ง 7 ประการนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่อย่างน้อยคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการทำงานให้มีความยั่งยืนในอนาคตจำเป็นต้องมี เมื่อรวมตัวอักษรนำหน้าคำทั้ง 7 นี้ ได้คำว่า LIBRARY ที่แปลว่าห้องสมุด (ที่หลายคนไม่ได้อยากเข้า) แต่ LIBRARY คำนี้คือ “ห้องสมุดชีวิต” ของเราเองที่ควรเข้าไปใช้บริการให้ได้อย่างน้อยสัก 7 ครั้ง"

บทความโดย ศ. กิตติคุณ ดร. กุณฑลี รื่นรมย์
ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กำลังโหลดความคิดเห็น