xs
xsm
sm
md
lg

ดิน น้ำ ป่า คือ “ชีวิต” ‘ดร.คุณหญิงกัลยา’ ยืนหยัดทำงานสนองปณิธาน “หลักสูตรชลกร” พลิกโฉมหน้าอาชีวะเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดิน น้ำ ป่า” คือชีวิตของคนไทยทุกด้านช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าและก้าวพ้นวิกฤตต่าง ๆ จึงเป็นแนวทางที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยึดถือปฏิบัติตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญกับดิน น้ำ ป่า มาตลอด 70 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ จึงมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสนองต่อพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์ท่านและในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้บังเกิดความสำเร็จสมดังพระราชหฤทัยของทุกพระองค์ที่มีต่อผืนแผ่นดินไทย

ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อปลูกฝังให้เด็กนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญ




ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช มีส่วนสำคัญผลักดันในการนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยกำหนดนโยบายหลักไว้ 12 ด้าน และนโยบายหลักด้านที่ 10 คือการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ระบุไว้ว่า…”ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในชุมชนตามแนวพระราชดำริ”

จากศาสตร์พระราชาสู่เยาวชน
จากการที่ได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ครั้งตอนทำสารานุกรมไทย ทำให้ซึมซับแนวพระราชปณิธานเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อคนในพื้นที่ห่างไกล การบริหารจัดการน้ำในเมืองไทยมี 2 ระบบ ระบบแรกคือระบบชลประทาน ส่วนที่เหลือต้องอาศัยการบริหารจัดการโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางไว้ให้ว่า ต้องประหยัด ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และที่สำคัญคือชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

ดังนั้นน้ำจึงเป็นหัวใจ “น้ำคือชีวิต” และน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง เมื่อมีน้ำเราก็สามารถทำมาหากิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร โดยมีน้ำเป็นต้นทางของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าประเทศไทยไม่แก้ไขเรื่องน้ำอย่างอื่นไปต่อไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และความยากจนอย่างยั่งยืน
ดร.คุณหญิงกัลยา มีแนวคิดและเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ สานต่อศาสตร์พระราชา ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่โดยผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้สามารถพึ่งการจัดการน้ำด้วยชุมชนได้ เพราะเรื่อง “น้ำ” ไม่ใช่เฉพาะแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่รวมถึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน


ยกระดับอาชีวะช่วยเกษตรกร
กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับของดร.คุณหญิงกัลยา ได้ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผ่านกลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้นักเรียน อาจารย์ของวิทยาลัยฯ ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ และเอาระบบบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะทำให้คนในชุมชน และคนทั่วไปได้มีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี มีความรู้ที่ดีขึ้น และสามารถที่จะเรียนรู้และพึ่งพาอาศัยตัวเองได้มากขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับอาชีวะศึกษา (วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี) ให้มีความรู้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

“ชลกร” พลิกโฉมหน้าอาชีวะเกษตร
โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ถือเป็น 1 ในนโยบายหลัก ในการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการโดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชา ช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) โดยมีพื้นฐานจากหลักสูตรช่างกลเกษตร แล้วต่อยอด 6 วิชา ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ วิชาอุตุนิยมวิทยา วิชาการจัดการน้ำผิวดิน วิชาธนาคารน้ำใต้ดิน วิชาการจัดการน้ำเสียชุมชน วิชาการจัดการดินและน้ำ และวิชาศาสตร์พระราชา หลักสูตรนี้มีพื้นฐานจากศาสตร์พระราชา แล้วเอาความรู้จากศาสตร์สากลมาผสมผสานให้มีความทันสมัย ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรชลกรสามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตร ภายใต้ความร่วมมือกับ American Groundwater Solutions (AGS) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อยกระดับองค์ความรู้ให้ได้มาตรฐานสากล




ความสำเร็จสู่ “ชลกร” รุ่นที่ 2
สำหรับหลักสูตรชลกรจะมีประโยชน์อย่างมากต่อวงการศึกษาไทย และประเทศชาติ สามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แก้จน ลดต้นทุนน้ำ เพิ่มรายได้ โดยในปีการศึกษา 2565 หลักสูตรชลกร เปิดเป็นรุ่นที่ 2 ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนเต็มจำนวนที่รับได้ โดยในรุ่นนี้ถือเป็นการต่อยอดสู่มาตรฐานสากล มีความเข้มข้นขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มีหนังสือหลักสูตรชลกรเล่มแรก เพื่อประกอบการเรียนการสอนให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องมือประกอบการเรียนรู้ นอกจากนี้หลักสูตรชลกร ซึ่งเน้นองค์ความรู้ที่ได้จากผู้ปฏิบัติจริงในสายงานจริง จึงได้มีอาจารย์พิเศษ และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าเรียนอยู่ในห้องเรียน และที่สำคัญขณะนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนและเปิดรับนักเรียนหลักสูตรชลกรเข้าไปฝึกงานหาประสบการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและต่อยอดให้นักเรียนสามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานนั้นๆ ในอนาคตได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเยาวชนไทย หรือคนไทยมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลแล้วเชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ

ขยายองค์ความรู้สู่ประชาชน

ไม่เพียงแค่ต้องการเดินหน้ามุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาเพียงเท่านั้น คุณหญิงกัลยาต้องการที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน จากจุดเริ่มต้นในการสานต่อศาสตร์พระราชาไปสู่เยาวชนพร้อมทั้งยกระดับองค์ความรู้สู่สากลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว จะขยายองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชม ตามแนวพระราชดำริ ไปสู่องค์กร หน่วยงานอื่นๆ ขยายไปทุกชุมชน จังหวัด และทั่วประเทศ ผลิตนักบริหารจัดการน้ำสร้างคน-สร้างชุมชน-สร้างเศรษฐกิจ-สร้างประเทศ ให้เต็มพื้นที่