"วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" วันที่ 17 สิงหาคม เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของน้องมาเรียม เพื่อระลึกถึงการจากไป ในปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่มาเรียมจากไป (17 สิงหาคม 2562) นอกจากนี้ยังมีแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ โดยเน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน และดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเล
พะยูน เคยเป็นสัตว์ที่คาดการณ์กันว่าจะสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปในไม่ช้า ในวันนี้ได้กลายเป็นสัตว์ที่พร้อมที่จะกลับมาอยู่คู่ท้องทะเลไทยอีกครั้ง จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของนักอนุรักษ์และชาวบ้านในชุมชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่าจำนวนพะยูนเฉลี่ยในประเทศไทย 240 ตัว ยังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงลดลง
พะยูน ดูเหมือนปลา แต่ไม่ใช่ พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีความยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร และมีน้ำหนักราว 230 – 500 กิโลกรัม กินพืชในน้ำเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่ง เราสามารถพบเจอพะยูนได้ในทะเลชายฝั่งเขตอบอุ่น ตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ซึ่งนั่นรวมถึงทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
กรมอุทยานฯ เผย 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพะยูนในวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ
พะยูน ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น
ประเทศไทยแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุด คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูนในประเทศไทย