The Incubation Network ร่วมกับ Global Plastic Action Partnership และแพลตฟอร์ม UpLink โดย the World Economic Forum รวมทั้ง Alliance to End Plastic Waste เปิดตัวโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้องในภูมิภาค พร้อมประกาศรายชื่อสตาร์ตอัปทั้ง 5 รายที่จะเข้าร่วมในแผนงานพัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะพลาสติกที่ออกแบบขึ้นเฉพาะรายตลอดระยะเวลา 5 เดือน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดวิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการรีไซเคิลและการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (อัพไซเคิล) ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ผู้สนใจที่สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านแพลตฟอร์ม UpLink มีจำนวน 101 ราย ทั้งนี้มีผู้สมัคร 48 รายที่ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นจากการประเมินอย่างละเอียดโดยนักวิจัย ผู้ปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนขององค์กร นักประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพิ่มการเป็นที่รู้จักและความน่าสนใจขององค์กร เข้าถึงเครือข่าย และเงินทุนสนับสนุนเพื่อขยายโซลูชันต่อไป
การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับวิกฤตมลพิษจากขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560-2562 พบว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม มีปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลรวมกันประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลต่อปีทั่วโลก ส่วนพลาสติกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำอาจถูกนำไปเผาหรือทิ้งในกองขยะ ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
“The Incubation Network ส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการท้องถิ่นและโซลูชันต่าง ๆ ที่ป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติก ก่อนหน้านี้เราดำเนินโครงการ Thailand Waste Management and Recycling Academy ที่เชื่อมสตาร์ตอัประยะเริ่มต้นกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และโครงการ Thailand SME Scale Up Program ที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจรีไซเคิลและอัพไซเคิลให้สามารถต่อยอดและขยายธุรกิจ”
ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กร The Incubation Network กล่าว “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge โดยพวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยและในภูมิภาค”
พูนาม วาทีน ผู้เชี่ยวชาญด้านความรู้จาก Global Plastic Action Partnership กล่าวว่า “วิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการจัดการขยะพลาสติกในภูมิภาค เรายินดีที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ The Incubation Network และ Alliance to End Plastic Waste เพื่อคัดเลือกกลุ่มสุดยอดนักสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นนำที่นำเสนอโซลูชันอันโดดเด่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติกได้ เรามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและสามารถสร้างผลกระทบที่ดียิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้”
โซลูชันของผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพิจารณาด้วยเกณฑ์ประเมินความสามารถอย่างน้อยหนึ่งในสามด้านดังต่อไปนี้ (1) เพิ่มปริมาณการจัดการ แปรรูป และ/หรือรีไซเคิลขยะพลาสติก (2) สนับสนุนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการจัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติก และ (3) ปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการที่จัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติก
กลุ่มผู้ร่วมโครงการ The Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ประกอบด้วย
มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย
มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย นำเสนอโซลูชันที่เรียบง่าย มีการใช้นวัตกรรม และสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง เพื่อป้องกัน กำจัด และรีไซเคิลของเสียออกจากสิ่งแวดล้อม
Bank Sampah Bersinar (ประเทศอินโดนีเซีย)
Bank Sampah Bersinar เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการโซลูชันการจัดการขยะในชุมชน
ENVIROTECH WASTE RECYCLING INC. (ประเทศฟิลิปปินส์)
Envirotech รวบรวมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) และเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์
Kibumi (ประเทศอินโดนีเซีย)
Kibumi เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานด้านการรีไซเคิลพลาสติกผ่านจุดรวบรวมขยะในรูปแบบดิจิทัลและทันสมัย
Plastic People (ประเทศเวียดนาม)
Plastic People เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ตกแต่ง
นิโคลาส โคเลซช์ รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste กล่าวว่า “การยุติขยะพลาสติกถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อขยะพลาสติกไม่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์” และยังเสริมอีกว่า “มีความต้องการพลาสติกที่ผ่านการใช้งานของผู้บริโภคแล้วเพิ่มขึ้น โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge จึงจะสนับสนุนสตาร์ตอัปในภูมิภาคเพื่อปิดช่องว่างนี้ โดยการนำพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อมและนำกลับคืนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน”
Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge นำโดย The Incubation Network และ Global Plastic Action Partnership UpLink โดย the World Economic Forum ซึ่งได้รับทุนจาก Alliance to End Plastic Waste และได้รับการสนับสนุนจาก SecondMuse, The Circulate Initiative, Global Affairs Canada และ DEFRA