· กลุ่มบางจากฯ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions 2050
· กลยุทธ์ BCP NET ไม่เพียงสอดรับกระแสโลกในการดูแลอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น แต่ยังเป็นยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทั้งในมุมธุรกิจและการดูแลผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
· หนึ่งในโครงการปีนี้ “Bangchak 100x Climate Action : ทุกคนช่วยได้” รณรงค์สร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ ทำให้บางจากฯ เป็น “ผู้บริหารไร้คาร์บอน” องค์กรแรกในไทย
ซีอีโอบางจากฯ ชูกลยุทธ์ BCP NET จับต้องได้
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีกกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านพลังงานที่มีการปรับตัวมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายแรกพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 โดยล่าสุดซีอีโอบางจากฯ เปิดแผนกลยุทธ์ BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทางที่จับต้องได้ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวช่วยโลกลดคาร์บอนที่ต้องการแสดงผลลัพธ์จริง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบายภาพรวมของโลกที่กิจกรรมของมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ณ ปัจจุบัน ว่ามีปริมาณมากกว่า 45,000 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยที่ประมาณ 0.9-1.0% ของโลก (ประมาณ 400 ล้านตัน/ปี) เมื่อพิจารณาว่า GDP ของไทยคิดเป็น 0.5% ของ GDP โลก สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการปล่อยเกินไปเป็นเท่าตัวและต้องเร่งกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เร็ว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บางจากฯ ได้เร่งดำเนินธุรกิจให้เป็นสีเขียวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
1. ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลงทุนในธุรกิจสีเขียวและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การบริหารธุรกิจต่าง ๆ ได้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือการปรับปรุงประสิทธิภาพต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้การปล่อยลดลงได้ 20% ในปี 2024 จนก้าวไปถึง 30% ในปี 2030 ในขณะที่อีกประมาณ 70% ยังจะต้องมีกลไกอื่นที่จะมาช่วย เช่นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
2. ธุรกิจเติบโตแต่การปล่อยคาร์บอนลดลง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจสีเขียว
ในช่วงเริ่มแรก ธุรกิจหลักๆ ของกลุ่มบางจากฯ คือโรงกลั่นและสถานีบริการน้ำมัน ก่อนมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจสีเขียว ได้แก่ โรงไฟฟ้าสีเขียว ธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติต้นน้ำ ในระหว่างปี 2014-2019 กลุ่มบางจากฯ มี EBITDA (หรือ earnings before interest, tax, depreciation, and amortization)เพิ่มขึ้น 50% แต่การปล่อยมลพิษ (emission) เพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการปล่อย ส่วนในอีก 7-8 ปีข้างหน้า บางจากฯ วางเป้าหมายที่สำคัญและท้าทาย ในการขยายธุรกิจให้มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่มีการทยอยการลดการปล่อยคาร์บอนจนคาดว่าจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในปี 2030 ตามเป้าหมาย
ซีอีโอ บางจากฯ ยกตัวอย่างของนวัตกรรมสีเขียวที่กลุ่มบางจากฯ ได้ขับเคลื่อน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในทุกธุรกิจ
- ธุรกิจโรงกลั่น มีการปรับเป็น Niche Products Refinery มากขึ้น โดยในอนาคต 30% ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงกลั่นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมัน
- ธุรกิจการตลาด เพิ่มสถานีบริการน้ำมัน Greenovative Destination ให้มีประสิทธิภาพมีนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น หลังคาโซลาร์ การนำน้ำจากหลังคามารดน้ำต้นไม้ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger
- ธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานสีเขียว บีซีพีจีฯ เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทุกอิเล็กตรอนที่ผลิตออกมาเป็นอิเล็กตรอนสีเขียวคือมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น และวันนี้กำลังเข้าสู่ธุรกิจการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพโดยบีบีจีไอฯ ใช้นวัตกรรม Synthetic Biology ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากพืชแทนสัตว์ เช่น เนื้อจากพืช เสื้อผ้า เครื่องสำอาง โดยไม่ต้องทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซมีเทนได้ และกำลังก่อตั้ง Syn Bio Consortium ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อสร้างเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจ bio-based ต่าง ๆ รวมถึง ธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนในธุรกิจที่ที่จะเปลี่ยนโลก อย่างธุรกิจไฮโดรเจน
-สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดผ่าน Carbon Markets Club บางจากฯ และพันธมิตรรวม 11 บริษัท ได้ร่วมกันตั้ง Carbon Markets Club สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด กระตุ้นให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรโดยภาคเอกชนกันเอง โดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมาก นำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการชดเชย และนำเงินส่วนนั้นมาพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดให้เป็นกลไกที่จะมาช่วยปิดช่องว่างในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาด
แผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทบางจากฯ กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้แผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาว
B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น
C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1. ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่น โครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2. ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล
P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี ค.ศ. 2030
NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น Bangchak 100x Climate Action ทุกคนช่วยได้