xs
xsm
sm
md
lg

วิถีเสือโคร่งไทย! การคงอยู่ในสองกลุ่มป่าที่มีศักยภาพ ขึ้นอยู่กับ “มนุษย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ในคลิป คือเสือคู่ทายาทแม่ปิ่นที่รอเวลาโบยบินหาบ้านของตัวเองจึงยังไม่รู้จุดสิ้นสุดของการเดินทาง
และยังไม่อาจนับหนึ่ง

เพจเฟซบุ๊ค Thailand Tiger Project DNP เผยข้อมูลการคงอยู่ของเสือโคร่งไทยในธรรมชาติ ว่าขึ้นอยู่กับ “มนุษย์” หากมนุษย์ไม่ได้มีความต้องการให้คงอยู่ในระบบนิเวศของป่าเมืองไทยอย่างแท้จริง แม้ว่า “เสือโคร่ง” จะแสดงถึงความพร้อมที่ต้องการอยู่เคียงคู่ป่าไทยด้วยการเดินเสาะแสวงหาจนพบพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ แต่พวกมันก็ยากจะคงอยู่ได้ตลอดไป

จากการร่วมมือกันทำงานอย่างยาวนานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งไทย ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับองค์กรเอกชนที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ เช่น WCS (Thailand) Panthera (Thailand) ทำให้ยืนยันได้ว่าตอนนี้ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งสองกลุ่มหลักที่มีศักยภาพในการสืบต่อและแพร่พันธุ์ คือ กลุ่มประชากรในทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง กับ กลุ่มประชากรที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ข้อมูลทางชีววิทยาจากการศึกษาเสือโคร่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ว่าแม่เสือโคร่งที่ห้วยขาแข้งออกลูกครอกละ 2-4 ตัว (n=19) โดยครอกละ2-3 ตัวเป็นข้อมูลที่มีค่าการบันทึกไว้ใกล้เคียงกัน (n=8,9) เช่น บุบผา เอื้อง สีฟ้า เฌอร่า ที่พบครอกละสามตัว ส่วน ปิ่น วีระยา คงที่ที่ครอกละสองตัว จำนวนลูกและอัตราการเกิด และการรอดตาย ช่วยให้เข้าใจเสือโคร่งไทยในเชิงลึกมากขึ้น จนเป็นประโยชน์ต่อการคิด วิเคราะห์ วางแผนเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งให้อยู่คู่ป่าไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม่เสือโคร่งจะออกลูกทุกๆ สองปี เนื่องจากต้องใช้เวลาในการหาเลี้ยงลูกในแต่ละครอกให้เติบใหญ่จนสามารถล่าเหยื่อได้เอง ก่อนที่พวกมันจะต้องออกเดินทางเพื่อไปหาพื้นที่ตั้งหลักแหล่ง อาศัยหากินเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะเสือโคร่งวัยรุ่นตัวผู้ที่ต้องเดินทางไปไกลจากพื้นที่บ้านแม่เสมอ (เสือวีระพงศ์ เสือวิจิตร เสือสันต์ภพ เสือพงศกร เสือเธียร) ส่วนวัยรุ่นตัวเมียส่วนใหญ่นั้นเหมือนมีสูตรชีวิตที่ง่ายกว่าคือ มันอาจได้โอกาสในการยึดบ้านเดิมแม่เพื่ออาศัยหากิน (เสือรุ้ง เสือเอื้อง) หรือขยับขยายออกไปจากบ้านแม่แต่ก็ไม่ไกลมากนัก (เสือผกา เสือจุ๊บแจง เสือเป็นสุข) แต่ก็มีวัยรุ่นตัวเมียบางตัวที่มีการเดินทางท่องเที่ยวไกลกว่าจะได้ตั้งหลักแหล่งและประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่จัดว่าเป็นแหล่งอาศัยสำคัญคือทุ่งใหญ่ตะวันออก (เสือข้าวจี่)

ถ้าสมมุติว่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งมีเสือโคร่งตัวเมียโตเต็มวัยอาศัยอยู่ 40 ตัว ออกลูกมาครอกละ 2 ตัว ในระยะเวลาที่ผ่านไปทุกๆสองปี ควรจะมีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอีกรอบละ 80 ตัว เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี คำนวณแล้วควรมีเสือโคร่งเพิ่มขึ้น เป็น 280 แต่ว่ามันเป็นจริงแค่การคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในชีวิตจริงของอยู่รอดจนเติบใหญ่ไม่ง่ายเหมือนการบวกลบตัวเลข ดังนั้น 280 ตัว จึงเป็นเพียงค่าเสมือนจริง

การสูญเสียหรือล้มตายของลูกเสือโคร่งในช่วงสองเดือนแรกที่ต้องอาศัยนมแม่เพื่อการเติบโตเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในธรรมชาติ ดูคล้ายเป็นการคัดสรรเพื่อหาผู้รอดตายที่แข็งแกร่งที่อดทนต่อความหิวโหยและอ่อนแอ ยามแม่ปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่กันลำพัง เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยที่ต้องเติบโตด้วยการกินเนื้อสัตว์อื่นๆ ภาระการหาเลี้ยงจึงเป็นงานหนักอย่างต่อเนื่องที่ต้องดำเนินไปอีกร่วมสองปี ฉะนั้นลูกเสือตัวที่รอดควรเป็นตัวที่แข็งแรงและมีโอกาสอยู่รอดจนสามารถสืบต่อเชื้อสายมันได้ จึงจะมีความคุ้มค่าในภาระที่แม่ต้องแบกไว้

เมื่อเวลาในการเติบใหญ่ล่วงเลยเข้าปีที่สอง ลูกเสือจะเข้าสู่วัยรุ่นที่มีฟันเขี้ยวแท้แข็งแรงทรงประสิทธิภาพในการล่าหาอาหารได้เอง แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาที่ได้อาศัยอยู่กับแม่ของพวกมันจะถูกนับถอยหลังตามเวลาของลูกน้อยในท้องแม่ที่รอเวลาลืมตาดูโลก ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงก็จะเป็นวันที่ลูกเสือวัยรุ่นต้องรู้ในที ว่าเวลาของการเลือกเส้นทางเพื่อออกเดินหาบ้านใหม่สำหรับใช้เป็นที่อาศัยและหากินรวมถึงสร้างครอบครัวของตัวเองมาถึงแล้ว

การเดินทางออกนอกบ้านแม่เป็นความท้าทายใหม่ที่แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อลมหายใจของพวกมันไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือเมีย เพราะมันต้องพบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่อาจมีอาหารหรือไม่มี หรืออาจมีเจ้าถิ่นเดิมซึ่งเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดพันธุ์ครอบครองครองอยู่ก่อนแล้ว

การปรากฏตัวของเสือโคร่งเดินผ่านกล้องดักถ่ายที่ได้ติดตั้งไว้ในป่าเพื่อการสำรวจเสือโคร่งในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งของไทย มักสร้างความเกรียวกราวบนหน้าแหล่งข่าวทั้งหลายเป็นระลอกๆ ตามมาด้วยอาการ “ดีใจ” ของผู้รับรู้ข่าวนั้น ด้วยเข้าใจว่าการปรากฏตัวเพียงช่วงสั้นๆของเสือโคร่งในพื้นที่ที่ไม่เคยมีเสืออาศัย หรือเคยมีนั้น แปลว่ามีเสือเข้ามาอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่นั้นแล้ว

เนื่องจากไม่เคยได้รับรู้มาก่อนว่า การปรากฏกายของเสือโคร่งเป็นพฤติกรรมของการพเนจรไปยังแหล่งพื้นที่ป่าไม้ต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตเสือโคร่งวัยรุ่นในธรรมชาติ

การร่อนเร่ไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงพื้นที่ไร่สวนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นป่า เป็นการแสวงหาถิ่นที่อยู่เพื่อให้มันได้ใช้หากินและหาคู่ชีวิตเพื่อสืบเชื้อสาย เป็นพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้นกับเสือโคร่งวัยรุ่น คงคล้ายกับมนุษย์ที่ช่วงเวลาหนึ่งต้องดูแลตัวเองรวมถึงสร้างครอบครัวใหม่ แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเสือวัยรุ่นกับมนุษย์วัยรุ่นนั้นแตกต่างกันมาก
ในการรอนแรมของเสือโคร่งวัยรุ่นเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่อาดคาดการณ์ได้ถึงความสำเร็จที่มันต้องการพบเจอ แม้กระทั่งว่าในวันหนึ่งที่พวกมันค้นพบพื้นที่ที่ยังไม่มีเสือโคร่งใดใดยึดครองเป็นเจ้าของ อีกทั้งยังมีสัตว์กีบน้อยใหญ่อาศัยอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การได้อยู่ตรงนั้นยังเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆของการแสวงหาที่สิ้นสุดลงโดยยังไม่ได้มีการทำหน้าที่ตามธรรมชาติ “ขยายพันธุ์”

“มนุษย์” เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเสือโคร่ง

แบ่งเป็นสองจำพวกคือ ปกป้อง และ ทำลาย ซึ่งทั้งสองมีผลอย่างยิ่งต่อการคงอยู่ของเสือโคร่งในธรรมชาติโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีความพร้อมรองรับการอาศัยและขยายพันธุ์ของเสือโคร่ง มนุษย์ปกป้องจึงควรเป็นผู้ที่ต้องมีการปรับกระบวนการคิด ให้สอดรับกับสถานการณ์การปรากฏตัวของเสือโคร่งในพื้นที่อนุรักษ์นั้นๆ ที่อยู่นอกเหนือจาก ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงไม่มีลูกเสือเกิดขึ้น ทั้งที่มีการพบเห็นเสือโคร่งในพื้นที่?” ขณะเดียวกันมนุษย์ทำลายควรเห็นคุณค่าของการคงอยู่เสือโคร่งในธรรมชาติมากกว่าราคาตอบแทนที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวในช่วงเวลาสั้นๆ

ท้ายสุดแล้ว การคงอยู่ของเสือโคร่งในธรรมชาติไม่อาจเกิดขึ้นได้หาก “มนุษย์” ไม่ได้มีความต้องการอย่างแท้จริงเพื่อให้เสือโคร่งได้คงอยู่ในระบบนิเวศของป่าเมืองไทย แม้ว่า “เสือโคร่ง” จะแสดงออกถึงซึ่งความพร้อมที่ต้องการอยู่เคียงคู่ป่าไทยด้วยการเดินเสาะแสวงหาจนค้นพบพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ซึ่งเผ่าพันธุ์ของพวกมัน


กำลังโหลดความคิดเห็น