ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่รู้และตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่เหตุใดเรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงขององค์กรต่างๆ ให้เข้าสู่แนวทางของความยั่งยืนมากนัก
ผลการศึกษาของ IMD ให้ข้อมูลว่าผู้บริหารกว่าร้อยละ 90 รับรู้และตระหนักว่าแนวทางความยั่งยืนนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาสร้างความเติบโตให้กับองค์กร โดยมีองค์กรร้อยละ 60 ที่ให้ความสำคัญและนำไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโมเดลการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างจริงจัง
ช่องว่างระหว่างความตระหนักกับการดำเนินการ (Knowing-Doing Gap) ใน “แนวทางความยั่งยืน” นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นคำตอบของการพัฒนาปรับเปลี่ยนองค์กรในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่อาจทำให้เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของคนภายนอกมากนัก โดยเราอาจเข้าใจได้ว่า เป็นไปด้วยเหตุผลข้อจำกัดองค์กรในหลายๆ ด้าน เช่น ความพร้อมด้านทรัพยากร เงินลงทุน หรืออำนาจต่อรองในห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าในการที่จะเปลี่ยนแปลงบางเรื่องนั้น ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานและสมดุลทางการตลาด อันอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าบริการ ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวต่อธุรกิจ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก
ข้อจำกัดนี้สะท้อนถึงสิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่นั้น มักเกิดขึ้นกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูงในห่วงโซ่อุปทาน ดังเช่น การมีนโยบายด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น จำต้องส่งต่อถ่ายทอดนโยบายนี้ไปยังคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและส่งมอบวัตถุดิบ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในการขนส่งโลจิสติกส์ด้วย (ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธจากอำนาจการต่อรอง) เพื่อให้มีผลการดำเนินการที่มีนัยสำคัญต่อเป้าหมายที่คาดหวังในระยะเวลาสั้นๆ ได้ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวโน้มความตระหนักต่อความยั่งยืนที่มีมากขึ้นในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายรัฐ หน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน สังคมชุมชน และโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้บริโภค ย่อมมีอิทธิพลรวมทั้งแรงกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้มาสนใจและใส่ใจกับประเด็นต่างๆ ในแนวทางความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
อีกประเด็นสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์กรไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น คือมุมมองและกรอบความคิดของผู้บริหารต่อ “แนวทางความยั่งยืน” โดยหากผู้บริหารมีมุมมองต่อความยั่งยืนว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดขึ้น เช่น ข้อกำหนดด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านแรงงาน หรือด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น องค์กรก็จะมุ่งดำเนินการในสิ่งต่างๆ เท่าที่จำเป็นในระยะสั้น เพียงไม่ให้องค์กรต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย
แนวคิดดังกล่าวนี้จะทำให้องค์กรต้องมี “ค่าใช้จ่าย” หรือ “ต้นทุน” ในการดำเนินการด้านความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าต้องพยายามให้ “น้อยที่สุด” เพื่อให้ผลประกอบการมี “กำไรสูงสุด”
แต่ถ้าหากผู้บริหารองค์กรมีแนวคิดหรือมุมมองที่แตกต่างว่า “แนวทางความยั่งยืน” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว ย่อมยินดี “ลงทุน” ด้วยทรัพยากรต่างๆ บนความคาดหวังของผลตอบแทนระยะยาวที่องค์กร “สมควร” ได้รับนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลังนี้ถือว่ายังได้รับการตอบรับจากผู้บริหารไม่มากนัก โดยจากผลการศึกษาเดียวกันของ IMD ให้ข้อมูลว่ามีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่ให้ความสำคัญว่าแนวทางความยั่งยืนนั้นคือเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้
สองมุมมองนี้ จึงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนระหว่าง “ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย” ของธุรกิจเพื่อผลตอบแทนระยะสั้นกับ “การลงทุน” ของธุรกิจเพื่อผลตอบแทนระยะยาว
นี่คือ ช่องว่างทางความคิดของผู้บริหารขององค์กรที่มองความยั่งยืนเป็นเพียง “การปฏิบัติให้สอดคล้องตามระเบียบกฎหมาย” หรือ “การสร้างความสามารถในการแข่งขันและความเติบโต” (Compliance-Competitive Gap)อันเป็นช่องว่างของความรู้ ความเข้าใจในแนวทางความยั่งยืนอย่างแท้จริงของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้กำหนดทิศทาง นโยบายขององค์กรนั่นเอง
2 ช่องว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น Knowing-Doing Gap หรือ Compliance-Competitive Gap ถือเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงองค์กร ที่ทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องเชื่อมปิดให้ได้ หากต้องการสร้างธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
และด้วยความตระหนักต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนองค์กรในการเดินหน้าพัฒนาองค์กรตาม “แนวทางความยั่งยืน” ดังกล่าวนั้น ทริส (TRIS) ภายใต้ academy of sustainable business หรือ asb จึงได้ร่วมกับ Social Value Thailand นำเสนอหลักสูตรฝึกอบรม Sustainable
Business Transformation Leaders Certificate Programสำหรับผู้บริหารที่ต้องการกำหนดทิศทางการพัฒนา นำองค์กรไปสู่ธุรกิจที่เติบโตบนพื้นฐานความยั่งยืนตามที่คาดหวังได้อย่างมั่นใจ
บทความโดย ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ
สถาบันวิทยาการจัดการTRIS Academy of Management
รายละเอียดหลักสูตร
https://www.tris.co.th/product/sustainable-business-leaders/
อ้างอิง
Article-Why All Businesses Should Embrace Sustainability, Some Top Companies Are Leading the Way - IMD, Professor Knut Haanaes.
Photo-Nestle: https://vir.com.vn/nestle-awes-with-sustainability-goals-68405.html
Photo-Nike: https://www.reutersevents.com/sustainability/nike-fy1415-sustainable-business-report-review-nike-sprints-ahead-environment