เป้าหมาย "Net Zero" หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่ประเทศและองค์กรต่างๆได้ประกาศเพื่อร่วมบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 นั้น กลุ่มบางจากฯ ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปีค.ศ. 2030 และ Net Zero ในปีค.ศ. 2050 ซึ่งมีความมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET
ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นพยาน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดล Bangchak WOW
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวว่า “วิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ จากการไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2022 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เรื่องหลักๆ ที่ผู้นำระดับโลกหารือกันมีอยู่ 3 เรื่อง คือปัญหาด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบที่จะตามมาคือการขาดแคลนอาหาร และภาวะเงินเฟ้อ"
๐ เปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ก็ยังมีการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่พลังงานสะอาด โดยมีปัจจัยสำคัญคือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งกลุ่มบางจากฯ พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ขององค์กร โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาวดังนี้
B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ
Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น
C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1) ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่นโครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2) ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการสนับสนุนคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการประเมินคาร์บอนเครดิต โดยเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่าง ๆ ในหลากหลายมิติเพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนและลดการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม
P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี 2030
NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น ‘Bangchak100x Climate Action ทุกคนช่วยได้’ ไปจนถึงโครงการรณรงค์ลดขยะกับลูกค้าและผู้บริโภค เช่น ‘แก้วเพาะกล้า’ ‘รักษ์ ปัน สุข’ และ ‘ขยะกำพร้าสัญจร’ ฯลฯ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ เช่นซัพพลายเออร์ นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (sustainable supply chain) โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
๐ ร่วมมือสู่เป้าหมาย Low Carbon Destination
สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination ในครั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ จะร่วมสนับสนุนพื้นที่เกาะหมากซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน ผนวกกับการใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเลนี้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
นอกจากนี้ กลุ่มบางจากฯ ยังสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสมผ่าน อบต. เกาะหมาก รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น
๐ สำรวจแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นำทีมโดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มทำการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่าง ๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่ โดยสำรวจทั้งหมด 8 แหล่งทั่วเกาะหมาก/เกาะกระดาด จัดระดับตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่มหลัก 5 กลุ่มย่อย โดยมีแหล่งหญ้าทะเลบริเวณด้านตะวันตกของเกาะกระดาด ได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงสุดในด้าน Blue Carbon คณะผู้วิจัยจึงทำการสำรวจในรายละเอียด โดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ รวมถึงแหล่งสาหร่ายขนาดใหญ่ เช่น สาหร่ายซากัสซั่ม สาหร่ายพวงองุ่น ปะการัง ฯลฯ จากนั้นจึงเจาะสำรวจคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล โดยใช้วิธีตามมาตรฐานสากล สามารถเปรียบเทียบกับผลการศึกษานานาชาติได้ (IUCN, 2021)
“ผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดีแต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต พบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำสูงมาก ทั้งปูม้า หอยจอบ ปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ที่ช่วยสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด”
๐ อพท.ดันกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดูดซับคาร์บอน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง มีภาคเอกชน เช่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ อพท. ที่ต้องการผลักดัน“เกาะหมาก” จังหวัดตราด พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลของ อพท. ให้ยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือ โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น (Low Carbon Destination) ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย
“สิ่งที่ อพท. กำลังดำเนินการที่เกาะหมากคือ ทำอย่างไรให้การปล่อยคาร์บอนจากภาคการท่องเที่ยวมีปริมาณที่ลดลง รวมไปถึงการหากิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดูดซับคาร์บอน เพื่อที่จะชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหมาก โดยใช้หลักคิดแบบตรงไปตรงมาว่าคาร์บอนถูกปล่อยที่ไหน ก็หากิจกรรมเพื่อดูดซับคาร์บอนที่นั่นเป็นลำดับแรก”
สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท บางจากฯ และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนโครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะหญ้าทะเลมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า หากสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ของหญ้าทะเลให้มีปริมาณมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของเกาะหมาก อีกทั้งหญ้าทะเลจะช่วยดูดซับและชดเชยคาร์บอนได้ดีอีกด้วย
การทำงานตามแนวทาง Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้จบ อพท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ “การจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก” เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ และมีการบริหารจัดการขยะบนเกาะโดยเน้นการนำมาหมุนเวียนเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเป้าหมายการผลักดันเกาะหมากขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนเกาะหมาก Low Carbon นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนในท้องถิ่นดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วยโมเดล Bangchak WOW (Well Being Improvement/Oxygen Enhancement /Water Management)
โดยมีการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต (W - Well Being Improvement) ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ โครงการส่งเสริมการจ้างงานในสถานีบริการและร้านกาแฟอินทนิล โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เช่น ครัวชุมชน ตลาดปันสุข คุณแจ๋วคลีนเซอร์วิส โครงการบางจากปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขมากว่า 2 ปี รวมถึงโครงการการจัดการขยะ และการขยายช่องทางกระจายสินค้าชุมชนผ่านสถานีบริการและร้านกาแฟอินทนิล ฯลฯ
ส่วน O - Oxygen Enhancement (การปรับปรุงคุณภาพอากาศ) เป็นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ร่วมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการต้นไม้ของคุณ เพื่อโลกของเรา ที่นำต้นไม้เสมือน (Virtual Trees) จากการเติมน้ำมันของสมาชิกในแอปพลิเคชันบางจากไปปลูกและอนุรักษ์ในพื้นที่จริง โครงการปลูกเพื่อป(ล)อดล้านต้น ลด PM 2.5 โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและกรมป่าไม้ในโครงการ OUR คุ้งบางกะเจ้า เป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับการประเมินและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขององค์กร การจัดการของเสียด้วยวิธีการฝังกลบเป็นศูนย์ รวมถึงการผลิตน้ำมันลดฝุ่นหรือน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ มาตรฐานระดับยูโร 5 เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงปลายปี ฯลฯ ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันบางจากได้รับการรับรอง GI5 จากการประเมินตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 (สูงสุด) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
“ในขณะที่ W - Water Management ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ ตัวอย่างเช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และมีการประเมินตามมาตรฐานวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อร่วมรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง รวมถึงลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้น้ำมันพืชซ้ำ ล่าสุด กำลังดำเนินการโครงการคลองสวยน้ำใส เพื่อร่วมปรับปรุงคุณภาพคลองรอบโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน อยู่ระหว่างการดำเนินจัดเตรียมแผนงานและการศึกษาข้อมูลเป้าหมาย จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 นี้” นายชัยวัฒน์กล่าว