xs
xsm
sm
md
lg

‘เสือในกรง’ ไม่ใช่หลักประกันคุณภาพชีวิตเสือโคร่ง WWF ยันไม่เกิดประโยชน์ต่องานอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสือโคร่งในกรงเลี้ยง สวนทางกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติ
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยประเทศไทยเป็นความหวังแห่งสุดท้ายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีนในธรรมชาติ

“ป่าของเรามีเสือโคร่งไม่ถึง 200 ตัว แต่เรากลับมี ‘เสือในกรง’ หรือใน ‘สวนเสือ’ มากกว่า 1,500 ตัว มากที่สุดในภูมิภาครองจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเสือในกรงมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก”

ชีวิตของเสือโคร่งในแหล่งเพาะเลี้ยง สวนทางกับวิถีชีวิตของเสือตามธรรมชาติ แม้จะมีอาหาร มีผู้ดูแล ปราศจากความเสี่ยงจากการถูกล่า แต่ก็เป็นเส้นใยชีวิตที่เปราะบาง ไม่เป็นธรรมชาติ และขัดกับวิถีการทำงานเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ

ดร.เปนไท ศิริวัฒน์ เจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายของ WWF เล่าว่า การทำงานเรื่องสวนเสือในประเทศไทยมีสิ่งท้าทายหลายปัจจัย เนื่องจากเสือในกรงส่วนใหญ่ถูกเพาะพันธุ์ในสวนสัตว์ที่จดทะเบียนถูกต้อง

แม้ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES) แนะนำให้ประเทศภาคีสมาชิกคุมการเพาะพันธุ์และจำนวนเสือในกรงให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ แต่ ‘กำไร’ เป็นเป้าหมายสำคัญของสวนสัตว์และสวนเสือหลายแห่ง ดังนั้นแม้การดำเนินธุรกิจสวนเสือส่วนใหญ่จะจดทะเบียนวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์ แต่เบื้องหลัง กลับพบกิจกรรมเพื่อตอบสนอง ‘ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์’ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อ-ขายชิ้นส่วนและผลิิตภัณฑ์จากเสือโคร่งและสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆ

“ถ้าเคยไปสวนสัตว์ที่มีเสือในกรงจำนวนมาก เราจะพบว่าหลายที่ทำเงินจากการถ่ายรูปและให้นมลูกเสือ ซึ่งลูกเสือแต่ละตัวก็ใช้งานในเเบบนี้ได้ในเเค่ช่วงเเรกๆ ของชีวิต จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามกับธุรกิจเหล่านี้ว่า รูปแบบธุรกิจที่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มทุกๆ 6 เดือน เพื่อเเบกภาระเลี้ยงเสือในกรงไปอีกสิบกว่าปีจะคุ้มหรือไม่? ในมุมมองของเรา น่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะสำหรับสวนสัตว์ที่จดทะเบียนแต่ไม่มีการขายตั๋วเปิดให้สาธารณะเข้าชม ยิ่งทำให้เป็นคำถามมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า สถานประกอบการบางแห่งอาจมีการหารายได้จากเสือในรูปเเบบอื่นๆ เพื่อความอยู่รอดหรือไม่”

การลักลอบค้าสัตว์ป่าถูกยกระดับให้เป็นหนึ่งใน “อาชญากรรมข้ามชาติ” ที่ร้ายแรงมากที่สุดในโลก และมีมูลค่ามหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานจากองค์กร TRAFFIC พบว่า ระหว่างปี พ.ศ.2543 - 2561 มีเสือโคร่งในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 120 ตัวต่อปี ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดค้าสัตว์ป่า โดยเกินกว่าครึ่งเป็นเสือที่มาจากสวนเสือในเมืองไทย

“การสนับสนุนการค้าเสือผิดกฎหมายของฟาร์มเสือส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ความต้องการค้าเสือโคร่งยังคงมีอยู่ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการดักจับเสือโคร่งในธรรมชาติอีกด้วย นั่นคือเหตุผลที่ WWF เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการเลิกฟาร์มเสือโคร่ง ทว่าเจตจำนงในการหยุดความเสียหายที่เกิดจากฟาร์มเสือที่มีต่อประชากรเสือโคร่งในป่ามักอ่อนแอ และได้รับอิทธิพลจากการทุจริต ซึ่งเกิดจากการที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีทรัพยากรไม่เพียงพอ”

น้องขวัญ ลูกเสือโคร่งของกลาง เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย

น้องต้นกล้า-น้องต้นข้าว ลูกเสือโคร่ง่ของกลาง เป็นสายพันธุ์เบงกอล
พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน CEO ของ WWF ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีน้องขวัญที่สะท้อนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ใน The Diplomat นิตยสารนานาชาติที่นำเสนอบทวิเคราะห์และเรื่องราวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากสถานการณ์ของเสือในกรงของไทยกำลังเป็นที่น่ากังวลและถูกจับตาโดยไซเตส เรายังต้องเผชิญกับโจทย์วิกฤตอาชญากรรมการค้าเสือข้ามชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด

WWF ประเทศไทยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และภาคส่วนอื่นๆ ทั้งกรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร เชื่อมต่อทุกส่วนเพื่อทำงานร่วมกันในการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย และด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นจุดล่อแหลมที่มักพบการขนส่งสัตว์ป่าผิดกฎหมายข้ามประเทศจากทั้งเมียนมาเเละภาคใต้ถึงไทย จากไทยส่งไปลาวและจีน

แม้คนไทยจะไม่ได้เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศต้นทางและทางผ่านที่สำคัญบนเส้นทางการค้าผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในภูมิภาค หากน้องขวัญไม่ถูกจับเป็น “สัตว์ป่าของกลาง” เสือโคร่งเพศเมียอายุ 2 เดือนอาจจะถูกส่งไปยังสวนสัตว์สักแห่ง ถูกนักท่องเที่ยวป้อนนม อุ้มกอด และเมื่อโตขึ้นก็ถูกจับขังอยู่ในกรง คอยเวลาถูกส่งต่อไปยังตลาดมืดที่รอซื้อขายชิ้นส่วนต่างๆ

ตัดภาพมาที่ผืนป่าของประเทศไทย การที่เสือโค่งตัวน้อยจะที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอิสระ และได้เรียนรู้สัญชาตญาณสัตว์ป่าจากแม่ เรียกร้องการทำงานฟื้นฟูและดูแลระบบนิเวศอย่างหนักและใช้เวลายาวนาน WWF จึงตั้งใจทำงานอย่างเข้มข้นและจริงจังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ และทุกภาคส่วน ทั้งในการฟื้นฟูและอนุรักษ์เสือโคร่งในป่า รวมถึงการตรวจสอบเพื่อลดและปิดธุรกิจสวนเสือที่เพาะเลี้ยงเสือโคร่งเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ให้สอดรับกับเป้าหมายในการเดินหน้าฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งทั่วโลกให้ได้เป็น 2 เท่าภายในปี พ.ศ.2565 นี้ ในฐานะ “หนึ่งในประเทศพื้นที่แห่งความหวัง” ที่ยังคงเหลือประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาติอยู่เพียงประเทศเดียวในลุ่มแม่น้ำโขง

เพราะคน เสือ และธรรมชาติ จะได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อเสือโคร่งมีชีวิตอิสระอยู่ในป่า โดยไม่ต้องกลายมาเป็น “เสือโคร่งของกลาง” อย่างน้องขวัญ หรือน้องต้นกล้า-ต้นข้าว


กำลังโหลดความคิดเห็น