หลังจากที่ โดฟ ได้ปล่อย แคมเปญ #LetHerGrow รณรงค์เพื่อยุติการลงโทษด้วยการตัดผมเด็กนักเรียนไปเมื่อต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระยะเวลาครบรอบสองปี ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องทรงผม แต่จากผลสำรวจ โดย โดฟ ผ่านกลุ่มตัวอย่างของ บริษัท ยูโกฟ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้หญิงและครู พบว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าการบังคับตัดผมยังคงมีอยู่เพื่อให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน
การเปิดประเด็นนี้ ของโดฟ ผ่านแคมเปญ #LetHerGrow ได้รับเสียงตอบรับโดยทันทีจากผู้คนในสังคม มีการพูดถึง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคำถามที่มีต่อกฎระเบียบต่างๆ ในโรงเรียนในประเทศไทย ว่าได้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป หรือไม่ และกฎระเบียบในโรงเรียน ไม่ควรไม่ขัดขวางการเรียนรู้ และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ค้นหาตัวตน เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตอย่างมีความสุข มีความมั่นใจ และภาคภูมิใจในตัวตนของตัวเอง จนเกิดเป็นคำถาม “ทรงผม เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก จริงหรือ”
ก่อนเปิดเทอมไม่กี่วัน เราได้เห็นหลายโรงเรียน ออกมาขานรับกฎระเบียบทรงผม “ให้อิสระ” นักเรียนไว้ผมทรงอะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับนักเรียน อย่างเช่น ประกาศว่าด้วยระเบียบ "ทรงผม" ในเพจเฟซบุ๊ก ‘โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง-Matthayom Wat Thatthong School’
“ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม”
คือ คำตอบเมื่อมีผู้ถาม “ความเหมาะสมของใคร” แอดมินเพจ ตอบว่า
“ความเหมาะสมของนักเรียน ที่เขาได้เลือกทรงผมให้เข้ากับหน้าตาของเขาเองค่ะ”
ที่มา : https://web.facebook.com/matthayomwatthatthong1325/photos/a.109041544370008/419449446662548
ซึ่งการออกมาประกาศผ่านทางโซเซียลของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ที่โรงเรียนได้ออกกฎระเบียบ โดยเอา “นักเรียน” เป็นที่ตั้ง และแสดงให้เห็นถึง “โรงเรียน คือ พื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและดีที่สุดในแบบของตัวเอง”
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ให้ความเห็นในปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาข้อเรียกร้องเรื่องทรงผมของเด็กนักเรียนที่ยังเกิดขึ้น ถึงแม้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศแก้ไขกฎระเบียบไปเมื่อสองปีที่แล้ว มาจาก 3 สาเหตุ คือ 1.ระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะระเบียบ ศธ. การไว้ทรงผมของนักเรียน ปี 2563 ข้อ 7 ที่กำหนดให้สถานศึกษา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ สถานศึกษา วางระเบียบการไว้ทรงผมที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ยึดถือหลักความเหมาะสมและการมีส่วนร่วม ซึ่งนักเรียนบางส่วนสะท้อนว่าโรงเรียนไม่ดำเนินการตามระเบียบ และตั้งกฎของโรงเรียนเองขึ้นมา 2. การตีความมีข้อถกเถียงความยาวหรือสั้นแค่ไหน และ 3.การลงโทษที่ผ่านมาพบการลงโทษ เช่น กล้อนผม ประจานนักเรียน หรือใช้คำพูดทำร้ายจิตใจนักเรียน เป็นต้น
โดยที่ผ่านมา ได้เป็นประธานคณะทำงานยกร่างระเบียบทรงผมนักเรียน และได้มีการประชุมกำหนดแนวทางแก้ไข 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ศธ.การไว้ทรงผม ปี 2563 ข้อ 7 โดยให้โรงเรียนออกระเบียบทรงผมที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่น ยึดสิทธิของนักเรียน และคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศสภาพของนักเรียนด้วย 2.ระดับการไว้ผมสั้น ผมยาว และผมหน้าม้า ให้ออกแนวทางปฏิบัติแนะนำโรงเรียน พร้อมทั้งให้ตัวอย่างที่ดีกับโรงเรียนดำเนินการตาม และ 3.ต้องลงโทษตามระเบียบ ศธ.เท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามกล้อนผมจนทำให้อับอายและเสื่อมเสียศักดิ์ศรี
สำหรับนักเรียน การถูกลงโทษด้วยการตัดผมนั้น มีผลตามมาทั้งสภาพจิตใจและพฤติกรรมการแสดงออกไปจนถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต และเด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียนเกิดปัญหาหลุดจากระบบการศึกษาตามมา การไม่เลิกทำโทษเด็กในโรงเรียนยังสะท้อน ภาพสังคมที่เน้นอำนาจ หรือ อำนาจนิยม ดังนั้นหาก “อยากให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ ควรปฏิบัติต่อเด็กแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่การใช้อำนาจข่ม”
ทั้งหมดนี้ โรงเรียนต้องหารือกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ก่อนออกกฎเฉพาะโรงเรียน การแก้ไขระเบียบต้องมีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
ควรมีการศึกษาจากตัวอย่าง โรงเรียนที่มีการปรับเปลี่ยน และผลดีที่เกิดขึ้น จากการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน อย่าง โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ ที่มีการรับฟังความคิดเห็นนักเรียนเรื่องทรงผม หรือล่าสุด โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เป็นต้น ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
กฎระเบียบมีไว้ต้องไม่ให้ขวางการเรียนรู้ของเด็ก ต้องปรับให้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่ตื่นตัวเรื่องเพศวิถี และเสรีภาพ และควรมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีความมั่นใจ และเติบโตในแบบที่ดีที่สุดของตัวเอง... ดร. สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
โดฟ เชิญชวน ผู้ปกครอง นักเรียน และนักการศึกษา ร่วมรณรงค์ยุติกฎการลงโทษตัดผมในโรงเรียน ผ่านทางเว็บไซด์ DoveLetHerGrow.com นอกจากนี้ โรงเรียนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม Dove Self-Esteem Project ที่โดฟ ได้ร่วมกับพันธมิตร อย่าง สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและเห็นคุณค่าตนเองให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศ