ทุกคนล้วนมีคำนิยามเรื่อง "ความปลอดภัย" แตกต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจเรื่องความปลอดภัยตรงกัน
“ความปลอดภัย คือ เรื่องจำเป็น” คีย์เวิร์ดแรกมาจาก ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ ประธานที่ปรึกษาด้านการสื่อสารคณะทำงานโครงการสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ซึ่งเปิดประเด็นว่า “ทุกคนล้วนมีคำนิยามในแง่ของความปลอดภัยแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างนั้นจะหลอมรวมกันได้ยังงัย อันนี้จะเป็นเป้าหมายสูงสุดของงาน OSH Avenue International Conference ที่เราอยากจะให้ทุกคนรู้ว่า ปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เปลี่ยนแค่บรรยากาศที่มันเกิดขึ้นโดยรอบ แต่มันเปลี่ยนแปลงเพราะมีสถานการณ์โควิดมาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นเหตุการณ์ตรงนี้ มันเลยเอื้อให้ความปลอดภัยมีมิติของความกังวลหรือความกลัวที่มากขึ้น และทำให้หลายคนจะต้องปรับตัวว่า แล้วเราจะอยู่ยังไงให้เรายังมีความสุขท่ามกลางความปลอดภัยที่เป็นความเสี่ยงรอบด้าน และมีหลากหลายมิติมากขึ้น”
งานสัมมนาวิชาการ OSH Avenue International Conference หรือ OAIC2022 เป็นงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับนานาชาติ ในรูปแบบ Hybrid ภายใต้แนวคิด “มองการณ์ไกล ความปลอดภัยในการทำงาน” จัดโดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
โดยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ของคนในสังคม ทั้งในด้านวิชาการและบริการที่หลากหลาย รวมถึงเป็นองค์กรที่เปิดรับและประสานความร่วมมือในการส่งเสริมงานด้านความปลอดภัยทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของงานด้านความปลอดภัย และสอดคล้องกับนโยบาย Safety Thailand ของกระทรวงแรงงาน
“ในงาน OAIC เรามีวัตถุประสงค์เดียว คือ ทำงานทุกอย่างเพื่อจะส่งเสริมมิติความปลอดภัยบนฐานของการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่า หากเราตั้งโจทย์คำถามที่น่าสนใจพอ วิธีการใหม่ๆ จะเกิดขึ้น และงานนี้ได้เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า กระบวนการคิดกระบวนการสร้างสรรค์ จะเป็นจุดแรกสำคัญสู่ยุคสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน” ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ เหลืองจินดา ผู้อำนวยการสำนักฯ สสปท.ชวนคุยภายใต้บรรยากาศของงานที่ค่อนข้างแปลกตาไปกว่างานสัมมนาวิชาการโดยทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยสีสันของกิจกรรมที่หลากหลาย และการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ไร้กรอบแนวคิดดั้งเดิม เปี่ยมไปด้วยสาระความรู้ และเปิดกว้างสำหรับคนทุกเจนเนอเรชั่น
กนกวรรณ บุญนิยม จากบริษัทมิลลิเคน ผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกัน Electrical Arc Flash ในประเทศอเมริกา หนึ่งในผู้เข้าร่วมงาน OAIC กล่าวว่า “ประทับใจรูปแบบการจัดงาน ตอนแรกคิดว่า จะเป็นวิชาการจ๋า แต่พอได้เข้ามาในงาน มาดูหัวข้อสัมมนาต่างๆ ก็มีความน่าสนใจ”
เช่นเดียวกับ ชัชชัย กิจเจริญไพศาล ผู้นำเสนอผลงานด้านอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นระเบิด จากบริษัทเรมเบ้ ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “วันนี้มาเป็นผู้นำเสนอคนแรก ได้รับฟังข้อมูลจากวิทยากรและบริษัทต่างๆ มองว่า มีความสนใจ มีการแชร์องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งที่มีส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องก็ตาม ก็เหมือนกับเป็นการอัพเดทเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยที่มีอยู่ในตลาดโดยรวม ทั้งความรู้ และการใช้ชีวิตในส่วนของตัวเองด้วย” รวมถึงน้องๆ จากศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า “มันคือการสร้างพฤติกรรมให้คนไทยใส่ใจ ให้ความสำคัญ แล้วก็ทำให้การจัดการเรื่องความปลอดภัยของเรา หรือสังคมไทยของเราพัฒนาไป แล้วก็มีความยั่งยืน”
โดยภาพรวมกิจกรรมภายในงานตลอด 3 วัน มีผู้เข้าร่วมงานออนไลน์ และออนไซต์ รวมกว่า 2,000 คน โดยได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการและนวัตกรรมด้านความปลอดภัย (knowledge sharing) จากนักวิชาการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษา จำนวน 54 ผลงาน ในประเด็นความปลอดภัย อาทิ การตระหนักถึงอันตรายจากฝุ่นระเบิด ประกายไฟฟ้า การทำงานอย่างปลอดภัยบนที่สูง การพัฒนาเตียงอเนกประสงค์ การแจ้งเตือนและระงับอัคคีภัยผ่าน IoT เครื่องฆ่าเชื้อ UVC รอบทิศทาง และที่น่าสนใจคือ การประยุกต์กระบวนการจิตตปัญญาเพื่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย การลดความเสี่ยง work เนือยนิ่งด้วยตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นสาระความรู้ด้านความปลอดภัยทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจ
8 คีย์เวิร์ดสำคัญในมุมมองที่เปิดกว้างและหลากหลาย
ดร.ยูกะ อูจิตะ ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้มีมติให้บรรจุเงื่อนไขด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในปฏิญญา 100 ปี ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานให้อยู่ในกรอบการทำงานในอนาคตของประเทศสมาชิก ILO ทั่วโลก"
"เนื่องจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของโลกส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงาน ทั้งในด้านกระบวนการแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งมีจำนวนคนตกงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจากสถานการณ์โควิด แต่ในขณะที่คนที่ยังมีงานทำอีกส่วนหนึ่งกลับมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นจาก Work form Home เงื่อนไขการจ้างงานมีความไม่แน่นอน ความมั่นคงทางสังคม การเลือกปฎิบัติและการล่วงละเมิดทั้งที่บ้าน และที่ทำงานซึ่งมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้โลกการทำงานเปลี่ยนไป และท้าทายมากยิ่งขึ้น"
"อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) ที่สำคัญเหมือนกัน โดยมีเสาหลักแรก คือ การสร้างวัฒนธรรมในเชิงป้องกันด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่วนเสาหลักที่สอง คือ ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และทุกภาคส่วน”
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจากกล่าวถึงมิติความปลอดภัยว่า “เรามี Motto ว่า Everybody go home safely everyday ทุกคนออกจากบ้านแล้วต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย ในการปฏิบัติงานทุกคนห้ามลัดขั้นตอน ต้องมีการซ้อมด้านความปลอดภัยต่อเนื่อง เราให้ความสำคัญอย่างเข้มงวดกับตรงนี้มาก เพราะเรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญมากนะครับ อันนั้นคือความปลอดภัยทางกาย ขณะเดียวกันคือเรื่องของสุขภาพจิต ซึ่งบางครั้งสุขภาพจิตมีปัญหาก็จะส่งผลต่อวิธีการทำงาน วิธีการตัดสินใจ วิธีการปฏิบัติต่อเพื่อนฝูงรอบข้าง แล้วก็จะสร้างสังคมที่เป็นพิษขึ้นมาได้เหมือนกัน"
"เราก็จะพยามไม่ให้พนักงานมีความเครียด เราเน้นเสมอว่า สุขภาพจิตสำคัญไม่น้อยกว่าสุขภาพกาย …. ที่นี่เป็นองค์กรขนาดใหญ่แห่งเดียว ที่ KPI ไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็น KPI ที่ว่า ในหนึ่งเดือนคุณเข้ายิมไปกี่ครั้ง ในหนึ่งปีคุณสามารถลดน้ำหนักได้กี่กิโล หรือภายในสามเดือนคุณเดินไปถึง 1 ล้านก้าวได้ไหม อะไรต่างๆ เหล่านี้ เรามี KPI เรื่องของสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมคิดว่าถ้าผมลงทุนให้พนักงานสุขภาพดี ดีกว่าต้องเก็บเงินเพื่อรักษาตัวตอนเค้าป่วย เงินก้อนเดียวกันนี้เอาไปลงทุนเรื่องสุขภาพดีกว่า และจะทำให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองมิติความปลอดภัยในแง่มุมของอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า “มีสถิติในพื้นที่นิคมฯ พบว่า คนงานเสียชีวิตจากการทำงานน้อยกว่าเสียชีวิตจากการเดินทางบนถนน ซึ่งเรามองเห็นความปลอดภัยในการทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาต่างๆ แต่ออกจากโรงงานไปเข้าไปเสี่ยงภัยตรงนั้น นั่นเป็นเหตุที่ทำให้เรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องสำคัญ มาช่วยกันรณรงค์และกำหนดมาตรการการเดินทางบนท้องถนนอย่าง Safety ครับ ไม่ว่าองค์กรทำงาน หรือมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ มีอัตราการเสียชีวิตลดลง”
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกคีย์เวิร์ดของ สกอตต์ เบอร์คัน อดีตผู้จัดการบริษัทไมโครซอฟต์ในยุคบุกเบิกเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งได้บอกว่า“Part of the challenge of innovation is coming up with the problem to solve, not just its solution. ถ้าวันนี้ safety คือสิ่งที่เราประเมินมูลค่าไม่ได้ innovation คือสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาในการช่วยให้เกิดความปลอดภัยขึ้นกับชีวิตของประชาชน”
ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “ปัจจุบันคนพูดเรื่องโลจิสติกส์มากมาย แต่ก็มีปัญหาอยู่ว่า ขอบเขตของปัญหาของโลจิสติกส์กว้างแค่ไหน และมันเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านความปลอดภัยอย่างไร ความเป็นจริงเราจะเห็นโลจิสติกส์เพียงไม่กี่ภาพ การขนส่ง คลังสินค้า เราเห็นแค่นี้ ทั้งๆ ที่ข้างหลังมันมีอะไรตั้งเยอะแยะ ในด้านโลจิสติกส์เอง ผู้บริโภคก็สร้างความเสี่ยงให้เยอะเหมือนกัน ดีมานด์ของผู้บริโภค พนักงานต้องมีบทบาท ต้องมีส่วนร่วม ไม่งั้นถ้าเกิดเขามองว่า เป็นสิ่งที่บริษัทสั่ง สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนัก”
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ถ้าเรานึกถึงเรื่องของความพิการแล้ว เราบอกว่า มาทำนวัตกรรมให้เขาดีกว่า ทุกคนคิดว่าจะเห็นภาพอะไรออกมาครับ ผมเคยถามละประมาณ 70-80% ทุกคนจะพยายามว่า ให้เขาพิการอย่างสบาย นอนอยู่นิ่งๆ สบายๆ เลยจะบริจาคเตียงไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งก็จะเป็นรถเข็น (wheel chair) แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเขาจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองใน smart home เขาได้ สามารถเคลื่อนที่ตัวเขาได้เอง โดยที่ความเป็นจริงแล้วในชีวิตนี้เขาไม่สามารถทำได้อีกแล้ว”
ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ดร.มาร์ค เกรกอรี่ ร๊อบสัน นักชีวภาพที่มุ่งสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพสิ่งแวดล้อม จากประเทศอเมริกา เล่าว่า “บนโลกเรานี้ มีประชากรอยู่ 7,950,766,760 คน และคุณรู้ว่ามีคนอีก 8 พันล้านคน ที่เราจะได้เห็นในปี 2050 และจะยังมีคนอีกเป็น 10 พันล้านคนบนโลกนี้ ซึ่งครึ่งหนึ่งของโลกได้รับแหล่งพลังงานจากข้าว แหล่งคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นเราจึงปลูกข้าวและอาหารอื่นๆ ด้วย ถ้าคุณมองในภาพรวม คุณจะเห็นความเสี่ยงของสารกำจัดวัชพืช สารฆ่าเชื้อรา และยาฆ่าแมลง แต่คุณอาจสงสัยว่า แล้วความเสี่ยงต่อสุขภาพมันคืออะไร สภาพผิวหนัง โรคผิวหนัง รวมถึงมะเร็ง ซึ่งคนคิดอย่างแรกเลยสาเหตุอาจเป็นยาฆ่าแมลง แต่นั่นไม่จริงเลย เพราะที่จริงแล้วมันคือสารหนูที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิพากษ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาสังคม กล่าวว่า “มันมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในเซ็คชั่นไหนของสังคม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่สมัยโฮโมเซเปี้ยน (homosapien) เมื่อประมาณ 300,000 ปีที่แล้ว เรื่องแรก คือ เรื่องของ Global Warming ซึ่งนำมาสู่ Climate Change ท่านคิดว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจคืออะไร ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจวัดจากอะไร ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ยิ่งบริโภคมาก ยิ่งผลิตมาก ยิ่งซื้อขายมาก ยิ่งเรียกว่า ยิ่งบริโภคมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเจริญมากเท่านั้น แล้วผลลัพธ์ของการพัฒนาแนวนี้ ก็คือ ที่เรารับอยู่ในขณะนี้ คือเราจะเดินไปสู่หายนะ ไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลกใบนี้ เราต้องเปลี่ยนวิถีการผลิต และวิถีการใช้ชีวิต วิถีการบริโภค เรายังไม่สายเกินไปที่เราจะเปลี่ยนแปลง”
ทั้งนี้ งาน OSH Avenue International Conference หรือ OAIC2022 ได้จบลงอย่างสวยงาม และเปิดมุมมองด้านความปลอดภัยในมิติใหม่จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ตลอดจนได้สร้างชุมชนความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มดิจิตอลที่จะสามารถสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่าง เท่าเทียมและหลากหลาย ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของการดำเนินชีวิต การทำงาน และการพัฒนาในศาสตร์ต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อในการขยายเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นพื้นที่สาธารณะที่จะมาสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้คนต่อไป
“เชื่อเถอะครับ จะกี่ปี จะวันนี้ หรือวันไหน ชีวิตมีคุณค่าเสมอ และเมื่อคุณทำงาน คุณค่าสำคัญที่คนทำงานทุกคนต้องมี และต้องได้ คือความปลอดภัย” ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ กล่าวปิดท้ายด้วยคีย์เวิร์ดสุดท้ายของความปลอดภัย
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. เป็นองค์กรภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนพัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน การศึกษาวิจัย การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงให้บริการทางวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน