ผมขอยกประเด็นจากที่ คัสต้อม เอเชีย ได้ทำการสำรวจความต้องการเครื่องยนต์ในการซื้อรถครั้งต่อไป เมื่อปีที่แล้ว (2564)
พบว่าผู้บริโภคต้องการรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 22.8 มากกว่าเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเบนซิน ร้อยละ 14.5 (ดูกราฟประกอบ) ซึ่งเป็นปีแรกที่มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี แซงหน้ารถใช้น้ำมันเบนซิน
นายสุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยตลาดมากว่า 30 ปี กล่าวว่า “เราคงเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกปัจจุบันอย่างกว้างขวางและรวดเร็วที่สุด และเป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ”
ภาวะโลกร้อน เริ่มสร้างผลกระทบรุนแรงถึงขั้นวิกฤตต่อวิถีการดำเนินชีวิตมนุษย์ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง และมาตรการลดภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าง่ายขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์ไฟฟ้า สูงกว่าเครื่องยนต์เบนซิน
ผมอยากให้ดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกรายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV (Battery Electric Vehicle) ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี เดือน มี.ค.2565 อยู่ที่ 634 คัน เพิ่มขึ้น 272.83% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2565) ยอดรถ BEV จดทะเบียนใหม่สะสม 1,251 คัน เพิ่มขึ้น170.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“การเติบโตของการใช้รถอีวี ประเภท BEV ตามที่ ส.อ.ท. รายงาน นอกจากเป็นไปตามเทรนด์โลก ลดก๊าซเรือนกระจกช่วยลดโลกร้อน ยังเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ยิ่งมาผนวกกับปัจจัยลบจากราคาน้ำมันแพงที่เป็นผลลบต่อรถใช้น้ำมัน สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ว่ามีการตัดสินใจซื้อรถอีวีเร็วขึ้น เพิ่มอัตราเร่งต่อการตัดสินใจตอบรับรถที่ใช้พลังงานทดแทนน้ำมันที่เขาประเมินแล้วว่า คุ้มค่ากว่า ถึงแม้องค์ประกอบหลายอย่างของรถยนต์อีวี ยังอยู่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ได้รับความสะดวกมากนักก็ตาม” นายสุกิจ กล่าวทิ้งท้าย