xs
xsm
sm
md
lg

จาก “หาบเร่แผงลอย” เป็น “ผู้ค้ารายย่อย” / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หาบเร่แผงลอยเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยมาแต่ครั้งในอดีต แต่รัฐบาลและกทม. มักมองเห็นแต่ด้านลบ ของ หาบเร่ แผงลอยว่าสกปรก เกะกะ ขัดขวางการจราจร


คำถามของผมก็คือ ถ้าวิถีชีวิต ในการทำมาหากินของคนไทยแบบนี้ไม่มีข้อดีอะไรเลย ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับประชาชนแล้ว วิถีชีวิตแบบนี้อยู่มาได้อย่างไรเป็น 100 ปี ในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้เลยว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อสังคมเลย และประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อสิ่งเหล่านี้เลย มันจะสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างไร 

มีแต่คนที่มองโลกเพียงด้านเดียว มองแต่ด้านเสียเพียงด้านเดียว ไม่มองความเป็นจริงอีกด้านหรือเห็นแต่สังคมอื่น ที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยไปหมดด้วยความชื่นชม และอยากยัดเยียดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาแทนที่ความเป็นจริงของสังคมไทยเท่านั้น

ผมไม่ได้ปฏิเสธด้านลบของหาบเร่แผงลอยที่ผ่านมาที่สร้างความสกปรก ขัดขวางการจราจร ขัดขวางเส้นทางบนทางเท้าของผู้สัญจรไปมา

คำถามของผมก็คือคือเราสามารถเปลี่ยนด้านลบของหาบเร่แผงลอยให้เป็นด้านบวก เปลี่ยนจุดอ่อนของหาบเร่แผงลอยให้เป็นจุดแข็งของสังคมไทยได้หรือไม่?

ผมอยากเปลี่ยนความหมายและสถานะของหาบเร่แผงลอยที่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ไม่มีกฎหมายรับรองหรือผิดกฎหมายนั่นเอง ให้กลายเป็น “ผู้ค้ารายย่อย” ซึ่งในความหมายของผมคือ “หาบเร่” จะไม่ต้องเร่อีกต่อไป ต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตจาก กทม. ผู้ค้ารายย่อยจะได้รับอนุญาตให้ขายได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง พวกเขาต้องมีสถานที่ขายที่แน่นอน มีการควบคุม ทั้งทางด้านความสะอาด และการควบคุมทางด้านสุขอนามัย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยที่จะบริโภคอาหารเหล่านั้นได้

เหตุผลที่กรุงเทพมหานครสมควรสนับสนุนร้านค้ารายย่อยเหล่านี้ก็เพราะว่ามันเป็นตลาดที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกกว่าการหาอาหารในห้างสมัยใหม่ มันเป็นแหล่งอาหารราคาถูกและอร่อยถูกสุขลักษณะให้แก่ผู้มีรายได้น้อย พนักงานห้างร้านที่มีรายได้ปานกลาง ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น ตลาดที่ว่านี้สามารถจะตอบสนองกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีในฐานะที่เป็นแหล่งอาหารทั้งในเวลาเช้า กลางวันและเวลาเย็น ซึ่งช่วยลดค่าครองชีพให้แก่คนระดับล่างและคนในระดับกลางได้พอประมาณ

ในอีกด้านหนึ่งที่ กทม.สมควรสนับสนุนอาชีพนี้ ก็เพราะมันเป็นอาชีพที่เป็นอิสระ ใช้เงินลงทุนน้อย เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีทุนน้อย และเป็นอาชีพสำหรับกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อยที่สามารถเข้ามาประกอบอาชีพนี้ได้ค่อนข้างง่าย

สำหรับผมแล้วโยบายที่สำคัญที่สุดนโยบายหนึ่งของรัฐบาล และ กทม. ก็คือ จะต้องส่งเสริมการทำให้คนมีงานทำ มีอาชีพมีรายได้และสามารถพึ่งพิงตนเองได้ในบางระดับ นโยบายแบบนี้คือการสร้างคนให้มีความสุขอย่างแท้จริง เพราะเขารู้สึกว่าเขาช่วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องงอมืองอเท้า รอคอยแต่เงินช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล งานทำให้คนรู้สึกภาคภูมิใจกับการมีชีวิตอยู่ การทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมที่เขาสามารถเชิดหน้าชูตาเหมือนกับคนอื่นๆ งานทำให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก (Alienation) ออกจากชุมชนและสังคม เพราะเหตุว่าเขาก็มีงานทำที่สุจริตเหมือนกับคนอื่นๆ

ผมคิดว่าเงินสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่จ่ายให้แก่พวกเขานั้นเป็นจำนวนเล็กน้อยและไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักในการดำรงชีวิต เงินจำนวนน้อยนี้ไม่พอใช้ ได้มาก็ดี แต่ที่ประชาชนจะดีใจมากกว่าคือการได้มีงานทำ มีอาชีพของตัวเองมากกว่า ในทางจิตวิทยาแล้วมันเป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้แก่ตนเองและครอบครัว

แต่เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หากเขาทำมาหากินแบบเดิมก็ยากที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น กทม. จึงควรมีนโยบายส่งเสริมการฝึกทักษะการใช้ออนไลน์ในการติดต่อค้าขายกับลูกค้า และมีความสามารถในการเชื่อมโยงกับสถาบันทางด้านการเงินนาโนไฟแนนซ์ หรือธนาคารออมสินเพื่อให้พวกเขาสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเขามีค่าใช้จ่ายที่ลดลงและลดความยากจนลงได้บ้าง ทั้งหลายทั้งปวงนี้เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ระบบการค้าขายโดยผ่านระบบออนไลน์ที่จะช่วยให้การค้าขายของเขาดีขึ้น กว้างขวางขึ้นและง่ายขึ้นกว่าเดิม

การทำระบบแอพพลิเคชั่นนั้น กทม. อาจทำเป็นโครงการนำร่องก่อนในบางพื้นที่ เพราะเหตุว่าในแต่ละพื้นที่นั้นตลาดมีความแตกต่างกัน ผู้ค้ามีความสามารถขายสินค้าได้ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น กทม.อาจเริ่มจากแหล่งที่ค้าขายที่ไม่โดดเด่นนักและคนไม่หนาแน่น โดยแสดงให้เห็นถึงประเภทของอาหารทั้งของกินและของใช้ ทั้งตลาดเช้า ตลาดกลางวัน และตลาดกลางคืนโดยอาจเริ่มต้นศึกษาเพียงหนึ่งแห่งหรือสองแห่งเพื่อถอดบทเรียน


ผมเห็นว่าผู้ที่มีบัตรสวัสดิการของรัฐก็สมควรได้รับสิทธิ์ในการเช่าร้าน เพื่อเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เช่นเดียวกัน เพราะว่าจุดประสงค์ของรัฐบาลและ กทม.ก็เพื่อจะดึงกลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบเดียวกัน

เราจะพบว่าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้ว ต่างก็มีผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากมายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและจากเทศบาลเหมือนกันทุกประเทศ ผู้ค้ารายย่อยเป็นแหล่งของการจ้างงานและสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงของประเทศได้

ตัวเลขในปี 2561 มีหาบเร่แผงลอยทั่วประเทศอยู่ประมาณ 560,000 ราย จีดีพี (กำไร) ของหาบเร่ใน กทม. อยู่ที่ราว 225,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับจีดีพีของสตรีทฟู๊ดอีกประมาณ 271,000 ล้านบาทต่อปี จีดีพีของผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลจาก Virtual Tourist ปี 2554 จัดให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงอันดับหนึ่งด้านความหลากหลายของสถานที่และมีตัวเลือกอาหารริมทางของกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจนได้รับรางวัลเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก

ปี 2561 สำนักข่าว CNN ยกให้ไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่มีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก ลองลิ้งค์เข้าไปอ่านดู https://edition.cnn.com/travel/article/best-cities-street-food/index.html

เราสามารถสรุปได้ว่า หาบเร่แผงลอยและ street food สมควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นหน้าตาของประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างประเทศนอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับคนไทย

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา



กำลังโหลดความคิดเห็น