xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืน "อุทยานมิตรผลด่านช้าง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืนของอุทยานมิตรผลด่านช้าง พิชิตเป้าหมายสู่โมเดลโรงงานต้นแบบด้าน Carbon Neutrality แห่งแรก สร้างเมืองคาร์บอนต่ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หรือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มักถูกพูดถึงและปักธงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายองค์กรในแวดวงอุตสากรรมทั่วโลกต่างเดินหน้าร่วมมือกันพิชิต เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น และอาจทำให้โลกเข้าสู่จุดวิกฤติหากยังไม่เร่งแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับนานาประเทศในเวทีการประชุม COP26 ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 พร้อมนำพาประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต
๐ Carbon Neutrality VS Net Zero

ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่นิยมเรียกว่า Carbon Neutrality คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ผ่านการลดการปลดปล่อยตั้งแต่ต้นทางของการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพิ่มแหล่งเก็บกักคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มาชดเชยในส่วนที่ไม่สามารถลดการปล่อยได้ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเหมือนความท้าทายขั้นกว่า ที่องค์กรต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ โดยไม่สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาชดเชยแทนได้ ซึ่งสองระยะเป้าหมายนี้ จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่หลาย ๆ องค์กรในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างร่วมกันปรับตัวเพื่อสะท้อนความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการดูแลโลกของเราให้ดีขึ้น


๐ เส้นทางความยั่งยืนของมิตรผล

เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมนำพาประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการต่อยอดแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ด้วยการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ามุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ผ่านแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังผลักดันให้ อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ก้าวสู่การเป็นโมเดลโรงงานต้นแบบที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2023 ภายใต้โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ผ่าน 6 แนวทางการดำเนินงาน
ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง


๐ เจาะลึกเบื้องหลังเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอุทยานมิตรผลด่านช้าง

1. เลือกใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต (Green Energy) 
จากการบริหารจัดการและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำชานอ้อย และใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงาน พร้อมยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. ผลักดันผลิตภัณฑ์ ภายใต้หลัก BCG จากผลผลิตทางการเกษตร
สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติของประเทศ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ( Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการต่อยอดสู่ธุรกิจต่อเนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล เช่น พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จากอ้อยธรรมชาติที่ทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 65,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3. ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผา มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน
ผ่านความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสด เช่น การรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล การทำ MOU ร่วมกับ 7 โรงงานน้ำตาลในการรณรงค์ตัดอ้อยสด การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ไร่อ้อย หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนตัดอ้อยสดกับชาวไร่โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

4. บริหารจัดการน้ำเสีย และจัดการขยะในโรงงาน
ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Activated Sludge) ทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บน้ำดิบ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง และยังสามารถนำน้ำหลังการบำบัดมาใช้เป็นน้ำต้นทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย พร้อมกำหนดแนวทางในการจำแนกประเภทขยะในโรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเคร่งครัด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

5. ขยายพื้นที่ปลูกป่า และดูแลต้นน้ำ
ภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชนรอบโรงงาน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการปลูกต้นไม้กว่า 700,000 ต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังริเริ่มโครงการ OASIS หรือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากมาไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้ง

6. ชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offsetting)
จากใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างครอบคลุมทั้ง 6 ด้านของอุทยานมิตรผลด่านช้าง สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนจังหวัดสุพรรณบุรีในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ไปพร้อมๆ กัน

การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้างมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2023 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มมิตรผล บนเส้นทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นองค์กรที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ที่แสดงถึงบทบาทของผู้รู้จริง ทำจริง เพื่อนำพาให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรม และประเทศไทย ก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำและเติบโตสู่อนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น