นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 เรื่อง เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน โดยขอให้แก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงจาก สถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน (921 เรื่อง) และขอให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลจัดทำเนื้อหาข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และขอให้ทุกหน่วยงานที่มีสายด่วนพร้อมพัฒนาคุณภาพการให้บริการและการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่หลากหลายโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน นั้น
นายอรรถพล กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวโดยให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดย คพ. ได้จัดทำกฎหมายกำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมและควบคุมเสียงจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เป็นประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และ ประกาศ ทส. พร้อมคู่มือการดำเนินงาน ได้แก่ เสียงโดยทั่วไป เสียงรบกวน เสียงยานพาหนะ กิจกรรมเหมืองหิน เป็นต้น รวมถึงประกาศ คพ. เรื่อง วิธีการหรือหลักเกณฑ์การตรวจสอบระดับเสียงจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การตรวจสอบระดับเสียงอากาศยานในบริเวณพื้นที่รอบสนามบิน เป็นต้น พร้อมดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านเสียง การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่าง ๆ
"คพ. มีสถานีตรวจวัดระดับเสียง ในพื้นที่ชุมชนและเมืองหลักที่มีการจราจรคับคั่งและเขตควบคุมมลพิษ เช่น พื้นที่ กทม. เชียงใหม่ ลำปาง สระบุรี ชลบุรี ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ตและสงขลา ประชาชนสามารถดูการรายงานผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ http://noisemonitor.net/web/