xs
xsm
sm
md
lg

อิมเมจินไทยแลนด์ฯ จับมือ สสส.ส่งเสริมสังคมสุขภาวะ ด้วยละครออนไลน์ “เสน่ห์รอยรั่ว” โดย ครูเล็ก ภัทราวดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) ตั๊ก นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ , ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพ , ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน , ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ,  ป๊อก ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์
Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สสส. เดินหน้าส่งเสริมสังคมสุขภาวะ ต่อยอดแนวทางใหม่ๆ โดย "ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน" และมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ผ่านละครออนไลน์ “เสน่ห์รอยรั่ว Nothing is Impossible" กับการใช้ศิลปะสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสุขภาวะให้คนทุกวัยในสังคม พร้อมนำเสนอในรูปแบบใหม่เปิดวงสนทนาสดต่อเนื่องระหว่างนักแสดงและผู้ชม ทั้งสนุกและได้สาระ

ภัทราวดี มีชูธน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) ประจำปี 2557 ผู้ก่อตั้งวิกหัวหิน ( Vic Huahin ) และโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน กล่าวว่า ต่อจากละครเวทีเรื่อง “เสน่ห์รอยร้าว The Broken Violin Project ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จัดแสดงเมื่อต้นปี 2563 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสังคมสุขภาวะ เป็นละครที่ฝึกสอนเยาวชนที่ก้าวพลาด โดยมืออาชีพ เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ สร้างอาชีพ ให้เยาวชนเหล่านั้น แต่สถานการณ์ Covid-19 ทำให้โครงการชะงักลง อย่างไรก็ตาม เยาวชนหลายคนในโครงการเสน่ห์รอยร้าวเจริญเติบโตไปในทางที่ดี ทำงาน เลิกยาเสพติด บางคนที่หมดคดีก็ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย สำหรับ Huahin skate park ได้เปิดให้เป็นลานสเก็ตสาธารณะ ใครๆ ก็เข้ามาเล่นได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


ในปีนี้ 2565 เป็นโครงการที่สอง นำเสนอ “เสน่ห์รอยรั่ว Nothing is Impossible” เป็นละครออนไลน์ ที่มีเรื่องราวต่อเนื่อง เป็นการสื่อสาร ให้ความรู้ สุขภาวะกายใจและจิตวิญญาณอีกมิติหนึ่ง ผ่านละครที่สนุกสนาน “เสน่ห์รอยรั่ว” เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ในค่าย “N Im P” ซึ่งย่อมาจาก “Nothing is impoosible” ซึ่ง 14 วันของการเรียนรู้ อยู่ด้วยกัน เพื่อการค้นพบตนเองจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีทางแก้ไขด้วยเทคนิคหลากหลายที่เรียนรู้กันในศิลปศาสตร์

“ศิลปะ มิใช่เป็นเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อความบันเทิง แต่ศิลปะสอนมนุษย์ให้รู้จักความงาม ความงามคือความดี ความดีคือความงาม ศิลปะสอนให้มนุษย์พัฒนาสมองทั้งสองซีกให้เกิดความสมดุล ตามองเห็น หูฟังได้ยิน ด้วยความเข้าใจ มีระเบียบวินัย และมีสิ่งที่ครูจะสอนเสมอ ว่า nothing is impossible ถ้าเรามีศิลปในหัวใจ ศิลปะสามารถเยียวยาสภาพร่างกาย และจิตใจอันเกิดจากความเครียด ความไม่มั่นใจในตนเอง ความก้าวร้าว ซึ่งการคิดบวก การมองต่างมุม สามารถแก้ไขอุปสรรคที่เราต้องเผชิญหน้ากับมันทุกวันได้ โดยผู้ชมสามารถนำประสบการณ์ของตัวละครในเรื่องนี้ไปใช้ในการดำรงชีวิตได้”

“ละครเรื่องนี้ใช้ location ถ่ายทำทั้งหมด ที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ซึ่งเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา และ Hub 0f Education Huahin ใช้นักแสดงสมทบ และทีมงานบางส่วนจากในโรงเรียน ตั้งแต่ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ แม่ครัว ช่าง และนักเรียน และถือเป็นโอกาสที่ได้สอนการงานอาชีพให้กับนักเรียนของเรา ผ่านการทำงานจริง กับ master หลายท่านที่มาร่วมงาน ทั้งยัง เป็นการสร้างความสามัคคีในองค์กร กระจายรายได้ถึงแม้จะเล็กน้อย แต่เป็นการสร้างสุขภาวะความภาคภูมิใจในองค์กรได้เช่นกัน” ภัทราวดี กล่าว


ละครเสน่ห์รอยรั่ว นำเสนอผ่านช่องทาง online ทาง Facebook และ Youtube Patravadi channel ครั้งละ 15 นาทีโดยประมาณ ทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี เวลา 19:30 น. เริ่มตอนแรกในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 และหลังจบการแสดงทุกตอน จะมีการสนทนาสด ผ่าน Facebook และYouTube ข่อง Patravadi Channel ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อยกประเด็นในละครมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักแสดงและผู้ชม ละครในแต่ละตอนมีประเด็นสำคัญซึ่งจะนำมาพูดคุยหลังละครจบ เช่น เรื่อง soft power โรค tics ติดอ่าง เรื่องการพัฒนาตนเอง เรื่องการควบคุมอารมณ์ เรื่องการเลี้ยงเด็ก เรื่องปัญหาครอบครัว และเรื่องการค้นพบตนเอง เป็นต้น

ละครเรื่องนี้สร้างโดยมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สสส. และImagine Thailand Movement ได้รับแรงบันดาลใจจากการประชุมกับพันธมิตร Imagine Thailand Movement ที่จุดประกายให้คิดต่อว่าจากละครเรื่องเสน่ห์รอยร้าว จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะในวงกว้าง และสร้างนักสื่อสารสุขภาวะได้อย่างไร จึงเกิดเป็นละครเสน่ห์รอยรั่ว เรื่องราวรอยรั่วหรือนิสัยของแต่ละคนที่ค่อยๆ เผยตัวออกมาสร้างอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ซึ่งครูทิวา (ครูเล็ก ภัทราวดี) และครูซอ ( คุณตั๊ก นภัสรัญชน์ ) จะแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทางศิลปศาสตร์อย่างไรให้ทุกคนได้ค้นพบตัวเองและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

Huahin skate park
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand Movement และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ กล่าวว่า โครงการเสน่ห์รอยรั่ว เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ “ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน” ได้ริเริ่มขึ้นมา เพื่อนำศิลปศาสตร์มาอุด “รอยรั่ว” ของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็กเยาวชน หรือผู้นำ เพราะโดยธรรมชาติทุกคนจะมีรอยรั่วอยู่ โดยศิลปศาสตร์จะช่วยกล่อมเกลาคน มีคำพูดหนึ่งพูดว่า ศิลปศาสตร์จะทำให้คนเป็นมนุษย์มากขึ้น คือเห็นใจคนอื่นมากขึ้น อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันมากขึ้น เอื้ออารีต่อกันมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ดร.อุดม กล่าวอีกว่า “มีการพูดคุยกันเหมือนกันว่าเรามีสื่อที่ดีแล้ว โจทย์สำคัญคือ เราจะใช้สื่อนั้นอย่างไร อันดับแรกคือมันจะอยู่บนโลกออนไลน์ อีกอย่างคือ เราจะเอาสื่อเหล่านี้ไปเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร มีการพูดคุยกันเบื้องต้น เราให้ออนไลน์ เราให้คนเข้ามาดู Live เราจะเชื้อเชิญคน เราจะป่าวประกาศว่าเรากำลังจะมีละครน้ำดี นอกเหนือจาก Live แล้ว ที่คนจะได้เข้ามาดูสดๆ ร่วมกัน พูดคุยกับคุณครูและผู้รู้ในด้านต่างๆ แล้ว เรามีการพูดคุยกันว่า เมื่อละคร On Air ไปแล้ว เราอาจจะเดินสาย จะนำบางตอนไปในบางสถานที่ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย”


“เราจะไปแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้โดยที่บางโอกาสเราอาจจะได้เชิญผู้ที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังไปร่วมกัน เพื่อไปดูละครเรื่องนี้ด้วยกัน คุณครูเล็กก็อาจจะเดินสายไปกับพวกเราเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เรื่องเหล่านี้กับกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้ใหญ่ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการที่กำลังออกแบบและวางแผนกันอยู่ เราคงจะสามารถนำสื่อดีเหล่านี้ ตรงเข้าสู่กลุ่มเป้าหมาย บางครั้งเราก็จะนึกถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจอะไรบางอย่าง อาจจะมองอีกกลุ่มที่เป็นตัวเด็กเอง บางทีก็อาจจะพูดถึงกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาที่น่าจะได้ประโยชน์จากละครเรื่องนี้ เราอาจจะต่อยอดไปยังชุมชนที่น่าสนใจ ภายในปี 2565 ซึ่งอยู่ในแผนของเรา”

ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความสำคัญและบทบาทของสื่อที่มีต่อสุขภาวะของคนในสังคม ศิลปะการละครนับเป็นหนึ่งศาสตร์ของสื่อสร้างสรรค์ที่มีมิติในการเยียวยาและดูแลจิตใจ ทั้งของผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ละคร และผู้รับชม ตามปกติการชมศิลปะการละครมักจะต้องเป็นการรับชมในพื้นที่จริง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดทำให้รับชมได้เฉพาะบางกลุ่ม แต่ครั้งนี้นำเสนอเป็นละครออนไลน์ รูปแบบใหม่ที่ร่วมสมัย ซึ่งจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากขึ้น และเชื่อว่าละครเสน่ห์รอยรั่ว จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความเข้าใจ ยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน และค้นพบความสุขในชีวิตที่อาจไม่ได้สมบูรณ์พร้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะทางปัญญาให้เกิดขึ้นในสังคม